จัดระเบียบโลกใหม่! "Global South" มาแรง จ่อครองโลกแทนสหรัฐ
จัดระเบียบโลกใหม่ไม่ง้อมหาอำนาจ! กลุ่มประเทศ "Global South" จ่อขึ้นแท่น "เจ้าโลก" รายต่อไป สร้างอำนาจต่อรอง - กำหนดอนาคตใหม่ เปิดทาง "จีน" เหนือ "สหรัฐ" มองมหาอำนาจทำ "โลกใต้" เน่าเสีย - บ่อนทำลายคนจำนวนมาก
Key Points :
* “Global South” หรือ “โลกใต้” คือ กลุ่มประเทศที่เคยถูกตีตราว่าล้าหลัง ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว “Global South” เริ่มมีบทบาทบนเวทีโลก สร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจได้มากขึ้น
* ก่อนจะมีคำว่า “Global South” ประเทศเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ประเทศโลกที่สาม” กระทั่งในภายหลังมีการใช้คำว่า “โลกใต้” โดยมีนัยด้านภูมิศาสตร์การเมืองมากกว่าการระบุถึงตำแหน่งที่ตั้ง
* หลายประเทศใน “โลกใต้” เริ่มมีท่าทีในการลดบทบาทชาติมหาอำนาจลง อาทิ ลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขาย-ชำระหนี้ ผลักดันสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น
หลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 มหาอำนาจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น “สหรัฐ” ขึ้นแท่นประเทศยักษ์ใหญ่ที่หลายฝ่ายเกรงกลัว จากการทหารที่เข้มแข็งรวมถึงการถือครองยุทโธปกรณ์อย่าง “ระเบิดปรมาณู” ที่เคยสร้างโศกนาฏกรรมสะเทือนโลกมาแล้ว และเมื่อผลัดใบเข้าสู่ “สงครามเย็น” ก็ถือเป็นการตัดเชือกคู่ชิง “เจ้าโลก” ครั้งใหม่ระหว่าง “สหรัฐ” และ “สหภาพโซเวียต”






เวลาล่วงเลยจน “สหรัฐ” ช่วงชิงสิทธิในการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ไปได้ หลายประเทศทั่วโลกผูกโยงเศรษฐกิจไว้กับสกุลเงินดอลลาร์จากการวางรากฐานระบบการเงินโลกครั้งใหม่ด้วยระบบ “เบรตตัน วูดส์” (Bretton Woods System) แม้ปัจจุบันจะยกเลิกการอ้างอิงดังกล่าวไปแล้ว แต่การวางกลไกในครั้งนั้นก็มีส่วนทำให้สกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกจนถึงปัจจุบัน เพิ่มอำนาจต่อรองของสหรัฐต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่นั้นมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอำนาจที่ “สหรัฐ” เคยถือครองไว้กลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว นอกจากการไล่บี้ของ “จีน” ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ประเทศที่ถูกนิยามว่า “โลกใต้” หรือ “Global South” ก็คงจะไม่ยอมอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของสหรัฐต่อไปเช่นกัน ที่ผ่านมา “Global South” ส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อยๆ จากการมองเห็นโอกาสในการกำหนดอนาคตตนเอง หลายประเทศสร้างอำนาจต่อรองจากทรัพยากรที่มีอยู่ บางประเทศลดการเชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์ และส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น บ้างก็เริ่มตระหนักได้ว่า การเข้ามาของประเทศมหาอำนาจที่ผ่านมามีส่วนในการบ่อนทำลายผู้คนมากเพียงใด บทบาทของประเทศ “Global South” ค่อยๆ เสียงดังมากขึ้นจนนำไปสู่คำถามที่ว่า หลังจากนี้บทบาทของ “Global South” จะเป็นอย่างไร ประเทศ “โลกใต้” จะขับเคลื่อนโลกไปในทิศทางไหนบ้าง
จาก “ประเทศโลกที่สาม” สู่ “โลกใต้”
นัยของคำว่า ประเทศ “โลกใต้” หรือ “Global South” มักใช้กล่าวถึงประเทศกำลังพัฒนามาโดยตลอด แม้จะเรียกว่า “โลกใต้” แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศในกลุ่มนี้ต้องมีที่ตั้งทางซีกโลกใต้เท่านั้น หากแต่เป็นคำเรียกที่ซ่อนความหมายของ “ภูมิศาสตร์การเมือง” เอาไว้ เห็นได้ชัดจาก “จีน” และ “อินเดีย” ที่เป็น “พี่ใหญ่” ของกลุ่มประเทศดังกล่าวแต่กลับมีที่ตั้งอยู่โลกเหนือทั้งหมด ฉะนั้น “Global South” จึงเป็นการผสมผสานระหว่างความคล้ายคลึงกันทางการเมือง ภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง
ประเทศในกลุ่ม “Global South” หรือ “โลกใต้” โดยส่วนใหญ่มักเป็นประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบลัทธิจักรวรรดินิยมมาก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “แอฟริกา” มุมมองของคนนอกโดยเฉพาะประเทศแถบโลกเหนือมีความสัมพันธ์กับ “แอฟริกา” อย่างไม่สมดุลนัก ทำให้ปัจจุบัน “แอฟริกา” เลือกวางเฉย และไม่สอดรับทางอำนาจกับประเทศมหาอำนาจใดเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์นิตยสาร Fortune ระบุว่า “Global South” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1969 โดย “คาร์ล โอเกิลสบี” (Carl Oglesby) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาได้ระบุถึงคำว่า “Global South” ใน “Commonweal” นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มเสรีนิยมคาทอลิกไว้โดยเป็นการแสดงความคิดเห็น ว่า “สงครามเวียดนาม” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดถึง “การครอบงำโลกใต้” โดยประเทศทางตอนเหนือ
นอกจาก “โลกใต้” คำที่มีนัยสื่อถึงประเทศกำลังพัฒนาคือ คำว่า “ประเทศโลกที่สาม” หรือ “Third World” ในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม “โลกที่หนึ่ง” กลายเป็นคำนิยามของกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมก้าวหน้าผ่านการผลิตแบบ “Mass production” ส่วน “โลกที่สอง” คือ ประเทศแนวสังคมนิยมที่ถูกปกครอง - แผ่ขยายอำนาจโดยสหภาพโซเวียต และ “โลกที่สาม” คือประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยังไม่มีอำนาจในการปกครองตัวเอง อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม
คำว่า “โลกที่สาม” ถูกเรียก และให้ความหมายไปในทางลบ หมายถึงประเทศที่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากความยากจน สกปรก ไม่มั่นคง ประเทศมหาอำนาจวาดวงกลมให้กับตนเอง และเครือข่าย สร้างนิยามความมั่งคั่ง - เจริญก้าวหน้าไว้แบบหนึ่ง ทำให้ประเทศที่อยู่นอกคำนิยามเหล่านี้ดูล้าหลัง กระทั่งเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า คำเรียกดังกล่าวมีลักษณะเชิงดูแคลน “Global South” ที่มีความเป็นกลางมากกว่าจึงได้รับความนิยม และถูกนำมาใช้แทนที่
ซุ่มเงียบสร้างอำนาจต่อรอง หมดยุคมหาอำนาจแล้ว?
ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ “จีน” และ “สหรัฐ” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศ “Global South” ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น “อินเดีย” ประเทศที่เคยถูกนิยามว่า มีคนยากจนมากที่สุดกลับได้รับการคาดการณ์จาก “Goldman Sachs” หนึ่งในสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า จะผงาดขึ้นสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก
ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศที่มีเซกเมนต์ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเลือกตั้งเป้าดึง “นักท่องเที่ยวอินเดีย” เข้าประเทศมากกว่าการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนไปแล้ว
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานความเห็นของ “นิรุพามา ราว” (Nirupama Rao) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ถึงสัญญาณการแยกตัวออกจาก “ระเบียบโลก” ที่สหรัฐเป็นผู้เขียนไว้ในอดีตว่า ปัจจุบัน “อินเดีย” เริ่มนำร่องการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลแล้ว เธอมองว่า ท่าทีของอินเดียมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ “Global South” ยืนกรานถึงสิทธิในการควบคุม และดำเนินการจัดการทรัพยากรในประเทศของตนเรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น “กานา” ออกนโยบายห้ามส่งออกลิเธียม “อินโดนีเซีย” ห้ามส่งออกแร่นิกเกิล นัยของนโยบายดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ใน “Global South” อย่างอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และอินโดนีเซีย มีความยินดีที่จะลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของ “จีน” มากกว่า “สหรัฐ” ด้วย “ลูฮุต ปันด์ไจตัน” (Luhut Panjaitan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเล และการลงทุนอินโดนีเซีย กล่าวถึงการตัดสินใจดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างถึงพริกถึงขิงว่า “อินโดนีเซีย” ไม่สามารถอ้อนวอนร้องขอให้ “สหรัฐ” มาโปรดได้อีกแล้ว “สหรัฐ” อาจไม่พอใจที่ “อินโดนีเซีย” ทำการค้ากับประเทศอื่น แต่เพื่อความอยู่รอดจึงมีความจำเป็นต้องตัดสินใจในลักษณะนี้
ด้าน “ลูอิซ อีนาซีโอ ลูลา ดา ซิลวา” (Luiz Inแcio Lula da Silva) ประธานาธิบดีบราซิล เคยกล่าวขณะเยือน “จีน” เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาว่า “Who decided that the dollar?” แปลเป็นไทยว่า “ใครเป็นผู้ตัดสินว่าต้องเป็นสกุลเงินดอลลาร์?” เขามองว่า แต่ละประเทศควรมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม “Global South” ก็มีความพยายามวางโรดแมปทางการเงินเพื่อลดความเชื่อมโยงกับสกุลเงินดอลลาร์เช่นกัน


“อินโดนีเซีย” เริ่มส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่น ลดความจำเป็นการใช้จ่ายเงินดอลลาร์ในแต่ละวัน “แอฟริกา” เร่งหารือเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินกลาง โดยในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมีกระแสข่าวออกมามากมายถึงมาตรการ “ลดพึ่งพาดอลลาร์”
จากท่าทีทางการทูตรวมถึงความสนิทชิดเชื้อในรอบปีที่ผ่านมา อาจทำให้เข้าใจไปว่า ประเทศ “โลกใต้” ให้น้ำหนักไปทาง “จีน” หรือ “รัสเซีย” มากกว่า อย่างเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา “บราซิล” ก็เริ่มเก็บ “เงินหยวน” เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศรองจาก “ดอลลาร์” นอกจากนี้ “อาเซียน” ยังมีการหารือร่วมกันของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ถึงการลดใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขาย-ชำระหนี้ ซึ่ง “บลูมเบิร์ก” ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า ประเทศต่างๆ ใน “โลกใต้” จะไม่เข้าข้างฝักใฝ่ฝ่ายใด จะไม่เลือกข้างในการต่อสู้ระหว่างชาติพญาอินทรี กับจีน หรือรัสเซียอีกต่อไปแล้ว เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาของมหาอำนาจล้วนมีส่วนทำให้โลกใต้ “เน่าเสีย”
“Global South” จะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป :
นิยามของ “โลกใต้” เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การเปลี่ยนแปลงด้านความมั่งคั่ง” ความร่ำรวยของโลกที่เคยกระจุกกองที่ “ซีกโลกเหนือ” จะไม่เป็นอย่างเดิมอีกต่อไป มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 3 ใน 4 จะมาจาก “โลกใต้” ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยเฉพาะกำลังซื้อของกลุ่ม “บริกส์” (BRICS) ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 กันยายน 2566