ศึกครองผู้นำเศรษฐกิจโลก BRICS ปะทะ G7 ใครเเน่กว่ากัน
* ประเทศไทยเตรียมเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
* G7 มี GDP สูงถึง 45.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ BRICS มี GDP รวมอยู่ที่ 29 ล้านล้านดอลลาร์
* รัฐมนตรีต่างประเทศ หารือระหว่าง BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ย้ำไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อม BRICS เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
จุดยืนของประเทศไทยให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ ในโลกผ่านกรอบความร่วมมือ ทั้งกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ BRICS ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นผู้นำ ซึ่งไทยก็เพิ่งยืนยันเจตจำนงสมัครสมาชิกกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญเเละน่าจับตา
ล่าสุด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือ นายเมารู ลุยช์ อีเยกแกร์ วีเยย์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิล ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการสนับสนุนระบบพหุภาคี และมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การค้า การลงทุน พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานชีวภาพ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร และการท่องเที่ยว
ในโอกาสนี้ ฝ่ายบราซิลได้สนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS ของไทยด้วย
รัฐมนตรีฯ ย้ำความสำคัญของ BRICS ในการส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบระบบพหุภาคี ซึ่งไทยสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับความร่วมมือของ BRICS โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง BRICS กับกรอบความร่วมมือที่ไทยเป็นสมาชิกได้
กลุ่ม "BRICS" ปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ กำลังมีบทบาทในการสร้างระเบียบโลกใหม่ เเละถูกมองว่าเป็นการคานอำนาจกับขั้วเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก
BRICS ก่อตั้งขึ้นจากสมาชิก 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC เป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อต้นปีนี้ได้รับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศ คือ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัฐสมาชิกจะยึดหลักความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน
ความน่าสนใจของกลุ่มบริกส์อยู่ที่การรวมตัวของประเทศมหาอำนาจ พร้อมฐานประชากรมหาศาลที่จะช่วยเสริมพลังทางเศรษฐกิจ
BRICS มีประชากรคิดเป็น 37% ของประชากรโลก ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนประชากรขนาดใหญ่ โดยเฉพาะถ้านำไปรวมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ขนาดเศรษฐกิจ, พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มนี้มีทั้งตลาดผู้บริโภค และฐานการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRICS มีการถูกนำมาเปรียบเทียบคู่แข่งขันอย่างกลุ่ม G7 ซึ่งมีสมาชิกเป็นชาติมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ อย่าง แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรสหรัฐฯ
เทียบขุมกำลัง BRICS vs G7 :
G7 สมาชิก Top 10 ประเทศที่มี GDP สูงสุดในโลก หากรวม GDP แล้วสูงถึง 45.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 43% ของเศรษฐกิจโลก หลักๆ มาจากสหรัฐฯ มี GDP ถึง 28.6 ล้านล้านดอลลาร์
BRICS มี GDP รวมอยู่ที่ 29 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,053.57 ล้านล้านบาท หรือ 27.94% ของเศรษฐกิจโลก นำโดยจีน (19.3 ล้านล้านดอลลาร์) และอินเดีย (3.7 ล้านล้านดอลลาร์)
ส่วนสมาชิก อย่าง อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ล้วนเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ โดยผลิตน้ำมันดิบประมาณ 44% ของกำลังการผลิตทั่วโลก
ในแง่ของ GDP รวม BRICS ยังตามหลัง G7 เเต่กลุ่ม BRICS ก็กำลังตามหลังมาติดๆ รวมทั้งยังท้าทายกฎเกณฑ์เดิมๆ เช่น การลดพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มาของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น สงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อจีนและรัสเซีย นำไปสู่การจัดตั้ง สถาบันการเงินใหม่อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank / NDB) มีระบบชำระและโอนย้ายเงินข้ามประเทศ สุดท้าย หวังจะมี "เงินบริกส์" เป็นของตัวเอง
ผลดีของ สกุลเงิน BRICS ต่อประเทศสมาชิก :
เพิ่มความแข็งแกร่ง ด้วยอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ลดอิทธิพลต่อการค้าระหว่างประเทศกลุ่ม BRICS จากเงินดอลลาร์ เพิ่มอิทธิพลกลุ่ม BRICS ในระดับโลก โดยการชวนประเทศอื่นมาใช้เงินสกุลใหม่นี้
ผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ :
ปัจจุบันเงินดอลลาร์ถูกใช้ในการค้าระหว่างประเทศราว 74% มีสัดส่วนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราถึง 90% และถูกใช้ซื้อขายน้ำมันดิบเกือบ 100% นอกจากนี้กว่า 60% ของเงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกยังเป็นในสกุลเงินดอลลาร์
สกุลเงิน BRICS แต่จะค่อยๆ ลดอิทธิพลของดอลลาร์ สร้างทางเลือกใหม่ในระบบการเงินโลก และอาจเปลี่ยนดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นักวิเคราะห์มองว่า เงินสกุลใหม่ของ BRICS มีความน่าสนใจ เนื่องจากใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สอดคล้องในปีที่ผ่านมามีการสะสมทองคำสำรองเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง จีนซื้อทองคำเพิ่มมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ปีนี้จะจัดขึ้นที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเชิญประเทศที่ยังไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 12 มิถุนายน 2567