นายกสมาคมอาคารชุดไทยแนะรัฐอัดยาแรง รับมือ "แผ่นดินไหว-ทรัมป์"
นายกสมาคมอาคารชุดไทย แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ วางแผนตั้งรับระยะสั้น-ระยะยาว ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจระลอกใหญ่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการภาษีทรัมป์ที่สะเทือนไทยแรง!
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย วิเคราะห์แนวโน้มวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ไทยพร้อมแผนรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว ว่า ปัจจุบันการจัดการหนี้สินในตลาดตราสารการเงินที่เปราะบาง มองในมุมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องยอมรับว่าปัญหาการไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคำนึงถึง นักลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield และบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade ต้องใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุน เพราะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของบริษัทเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดการเงินและเศรษฐกิจ
การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างเสถียรภาพ โดยการตั้งดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ แต่ยังคงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ในอนาคต
มาตรการระยะสั้น“กระตุ้นการโอน” :
ในส่วนของการกระตุ้นการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้น ภาครัฐมีการเสนอมาตรการใหม่ที่เน้นไม่กำหนดราคาบ้านที่ต้องการซื้อขาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการโอนทรัพย์สินโดยไม่จำกัดวงเงินสูงสุดเหมือนในอดีต การลดหย่อนภาษีและดอกเบี้ยบ้านใหม่ก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นการซื้อขายในช่วงเวลาที่ตลาดยังมีความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม! โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สินเชื่อระยะยาวที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อให้สามารถรักษาสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาจมีความเสี่ยงสูง
“จากวิกฤติแผ่นดินไหวและมาตรการภาษีทรัมป์ เป็นโจทย์ใหม่ที่เข้ามาท้าทายเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นยาแรงออกมาช่วยเพิ่มเติม”
สำหรับแผนระยะยาวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น การวางโครงสร้างที่เหมาะสมกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยการให้สิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 60 ปี จะเป็นการเปิด “โอกาส” ให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยได้อย่างโปร่งใส พร้อมการจ่ายภาษีตามกฎหมายไทย จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและทำให้ธุรกิจในประเทศไทยสามารถขยายตัวได้
ตั้งกองทุน“บ้านผู้มีรายได้น้อย” :
อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการบ้านหลังแรก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการควบคุมการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศไทยอย่างมีระเบียบ เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย
ขณะเดียวกันการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในระดับนานาชาติก็มีความสำคัญ เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ยังมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ หากมองในมุมของการสร้าง “manmade” หรือสิ่งก่อสร้างที่นอกเหนือจากธุรกิจ Entertainment เช่น การพัฒนานิคมการแพทย์และโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโรค รวมถึงศูนย์การพัฒนาทักษะทางการศึกษาระดับเทคนิค ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนและแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้
มาตรการที่หลากหลายทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังกล่าว ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านปรับตัวอย่างมีทิศทาง เพื่อสร้างความมั่นคงและเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต การวางแผนอย่างรอบคอบ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมต่อและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีระเบียบ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 เมษายน 2568