World Development Report 2024 : The Middle income Trap กับอินเดีย
World Development Report 2024 : The Middle income Trap ระบุว่า มีประเทศจํานวน 108 ประเทศ ที่ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลาง (GDP ต่อหัว ระหว่าง 1,136 – 13,845 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ประเทศเหล่านี้ประสบกับความยากลําบากในการพัฒนาประเทศให้กลายเป็นประเทศรายได้สูง เนื่องจากยุทธศาตร์ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการขยายการลงทุน และพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเป็นสําคัญ
ขณะที่ประเทศทั่วโลกกําลังเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากรสูงอายุ ภาระหนี้ ความขัดแย้ง ทางการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะแวดล้อม พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ ค.ศ. 1990 มีประเทศรายได้ปานกลางเพียง 34 ประเทศเท่านั้น ที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเข้าร่วม European Union หรือ ค้นพบแหล่งน้ํามันใหม่
โดยรายงาน World Development Report 2024 : The Middle income Trap ระบุข้อเสนอแนะว่า การที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายปานกลางนั้น ประเทศที่มีรายได้ระดับ กลาง/ต่ํา จะต้องปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า “3i Strategy”
กล่าวคือ ไม่เพียงแต่เน้นการลงทุน (Investment) เพียงเท่านั้น แต่การลงทุนนั้นจะต้องนําเอา (Infusion) เทคโนโลยี และรูปแบบการบริหารธุรกิจที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และจะต้องมีนวัตกรรม (Innovation) ด้วย โดยรายงานได้ยกตัวอย่างของเกาหลีใต้ที่นําเอายุทธศาสตร์ 3i มาใช้จนประสบความสําเร็จ
โดยสามารถเพิ่ม GDP per Capita ของตน จาก 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1960 มาเป็น 3,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2023 ซึ่ง ยุทธศาสตร์ 3i Strategy นี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศสามารถพัฒนาและขยายกําลังการผลิต อีกทั้งยังสามารถผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูงที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย
รายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของการค้าระหว่างประเทศในฐานะเครื่องมือในการเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรายได้ปานกลาง เช่น อินเดีย โดยการลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดมาตรการการกีดกันทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี และการเข้าร่วมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นาย Auguste Tano Kouame ผู้อำนวยการสำนักงาน World Bank ประจําอินเดียให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “อินเดียมีความเสี่ยงต่ําที่จะตกอยู่ในกับดักดังกล่าว เนื่องจากอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก และมีการปฏิรูปนโยบายในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าอินเดียจะสามารถยกระดับตนเองจากประเทศที่มีรายได้ระดับ กลาง/ต่ํา มาเป็นระดับ กลาง/สูงได้ ในเวลาไม่นาน”
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะมีวิสัยทัศน์ Viksit Bharat@2047 ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้อินเดียกลายเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว และมี GDP ขนาด 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2047 ก็ตาม แต่อินเดียยังคงประสบกับความท้าทายในการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางอีกหลายประการ อาทิ
* ความไม่สมดุลระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราค่าจ้างขั้นต่ํา ทําให้รายได้ที่แท้จริงของประชากรไม่เพิ่มขึ้นซึ่งประชากรส่วนใหญ่ไม่มีอํานาจซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
* ประสิทธิภาพในการผลิตต่ํา โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานมากกว่า 240 ล้านคน แต่ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ําลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้
* การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ จากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 25 ของแรงงานอินเดีย ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน ร้อยละ 52 ได้รับการศึกษาสูงสุดในระดับมาตรฐาน 11 หรือ 12 เท่านั้น ซึ่งเป็นความท้าท้ายของรัฐบาลในการฝึกฝนอบรมแรงงานเหล่านี้ให้สามารถตอบรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะ หรือมีการศึกษาในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะออกไปแสวงหางานในต่างประเทศมากกว่าที่จะทํางานในอินเดีย
* นโยบายของรัฐบาลอินเดียในการให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงให้ความสําคัญกับขนาดของการลงทุน และ ปริมาณการจ้างงานเป็นสําคัญ ในขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ยังไม่ได้รับความสําคัญจากรัฐบาลเท่าที่ควร
ข้อสังเกตุ :
ถึงแม้ว่าปัจจุบันอินเดียจะยังคงอยู่ในสถานะประเทศรายได้ระดับ กลาง/ต่ํา แต่อินเดียมีข้อได้เปรียบจากหลาย ๆ ประเทศที่มีรายได้ในระดับเดียวกัน อาทิ ยังเป็นประเทศที่ไม่เข้าสู่ภาวะประชากรสูงอายุ ชนชั้นกลางเพิ่มจํานวนมากขึ้น ตลาดผู้บริโภคมีขนาดใหญ่ มีการลงทุนจากต่างประเทศมาก โดยเฉพาะจากชาวอินเดียโพ้นทะเล การเมืองมีเสถียรภาพ การใช้จ่ายภาครัฐสูง รวมทั้งมีพื้นฐานด้าน IT ที่ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้อินเดียสามารถเพิ่ม GDP per Capita ให้มากขึ้น และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้รวดเร็วกว่าที่รายงานได้ประมาณการณ์ไว้ (ข้อมูล สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ, เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567