เอกชนดิ้น "รัดเข็มขัด-กำเงินสด" ตั้งการ์ดรับเศรษฐกิจตกต่ำ-มาม่าสวนกระแสลงทุนเพิ่ม
เอกชนวางแผนรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำพิษภาษีทรัมป์ ผู้ส่งออกอาหารเผยธุรกิจดิ้นปรับตัวทุกมิติทั้ง "ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ-บริหารสต๊อก" จับตาสถานการณ์ชะลอลงทุนกระทบการจ้างงาน ห่วงกำลังซื้อในประเทศทรุดตาม ทิพยกรุ๊ปสั่งชะลอแผนลงทุน-ซื้อกิจการทั้งหมด “กำเงินสด” โตโยต้าอุ้มดีลเลอร์บริหารจัดการคุมต้นทุน เข็นรายได้บริการหลังการขายชดเชย ขณะที่ “มาม่า” สินค้ายามวิกฤต เผยดีมานด์ล้นต้องขยายการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต “ซันสวีท” ปรับแผนหันบุกตลาดในประเทศเพิ่ม
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากผลกระทบมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะมีความเปราะบางต่อสถานการณ์มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
โดยธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือโต 1.6% จาก ก.พ. 68 ที่ได้ประเมินว่าจะเติบโต 2.9% ผลจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน โดยประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน
ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวชผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 3% สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก ผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.3% ต่อปี ลดลงจากเดิมคาดการณ์ 4%
เอกชนดิ้นปรับตัวอุตลุด :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวลดลง สำหรับภาคธุรกิจต้องยอมรับว่า “มีความกังวล” เพราะจะมีผลให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ขณะที่การส่งออกถูกกระทบจากภาษีทรัมป์ 2.0 รายได้จากการค้า การลงทุนได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชะลอการจ้างงานหรือการลงทุนใหม่
โดยภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนผ่านการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ต้องคาดการณ์ตัวเลขการขายที่แม่นยำซึ่งจะมีผลต่อสต๊อกสินค้า รวมถึงการมองหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ยังมีการเติบโต เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา และตลาดใหม่อย่างยูเรเซีย รวมถึงการปรับสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งในแง่ของราคา คุณภาพ และความยั่งยืน
จี้รัฐเร่งคลอดมาตรการดูแล :
นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังจากภาครัฐในการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ดูแล Ecosystem สนับสนุนเอสเอ็มอี เสริมสภาพคล่อง และฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง และหาช่องทางสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อพาเศรษฐกิจไทย
เดินหน้าอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี จากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมองว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นี้ น่าจะยังเติบโตเป็นบวก เนื่องจากมีการยืดระยะเวลาในการเรียกเก็บภาษีออกไปอีก 90 วัน หากหลังการเจรจาและมีความชัดเจนเรื่องของอัตราภาษีนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ก็จะประเมินได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เนื่องจากผลของการขึ้นภาษี หากออกมาในรูปแบบที่เท่ากันทุกประเทศ ภาพการแข่งขันของราคายังอยู่ในทิศทางเดิม หากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐประกาศออกมาในตัวเลขที่แตกต่างกัน จะมีผลกระทบกับประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูง
ทิพยฯชะลอแผนลงทุนทั้งหมด :
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เห็นสัญญาณชัดเจนถึงความสับสน นักลงทุนลังเลที่จะลงทุน และมีการพูดถึงให้เก็บเงินสดเอาไว้เพื่อรอดูท่าที ส่วนผู้ประกอบการก็เริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย จากการหดตัวของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุน ทำให้ภาพโดยรวมกดดันเศรษฐกิจชะลอตัวลง เช่นเดียวกับธุรกิจประกันภัยตอนนี้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภคเริ่มรัดเข็มขัด เปลี่ยนประเภทการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยเท่าที่จำเป็น
โดยกระทบต่อธุรกิจประกันภัยโดยรวม ดังนั้นในส่วนของ บมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งเมื่อต้นปี 2568 ได้ตั้งงบฯลงทุนไว้ 1,000 ล้านบาท จะระมัดระวังในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ตามแผนโครงการลงทุนซื้อกิจการในกัมพูชา และโครงการอื่น ๆ ที่จะลงทุนในปีนี้
ปัจจุบันได้สั่งให้ชะลอแผนลงทุนไปก่อน และค่อยกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหลังพ้น 90 วัน ที่ทรัมป์จะประกาศเรื่องการขึ้นภาษีศุลากรตอบโต้กับไทยและประเทศต่าง ๆ ประกอบการเห็นเศรษฐกิจทั้งในกัมพูชา และ สปป.ลาว ที่เรียกว่าถดถอยอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นอาจไม่ใช่จังหวะเข้าไปลงทุนในตอนนี้
ขณะที่ส่วนของ บมจ.ทิพยประกันภัย ตามแผนที่จะมีการลงทุนในตลาดหุ้นหลังจากได้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาการลงทุนเป็นการเฉพาะ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นปันผลที่ยังคงมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ราคาหุ้นลงมามาก ตอนนี้คงจะไม่ได้รีบเข้าไป คงรอจังหวะทยอยเข้าลงทุน เพราะสถานการณ์โลกยังมีความไม่แน่นอนสูงอยู่
MTC สั่งสาขาจับตาหนี้เสีย :
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ ตอนนี้บริษัทได้จัดตั้งทีมงานคอยมอนิเตอร์การชำระหนี้ของลูกค้า เนื่องจากหัวใจธุรกิจคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จึงได้มอบหมายให้ผู้จัดการสาขาทั่วประเทศกว่า 8,000 แห่ง ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ บริษัทยังคอยติดตามผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐจะมีผลอย่างไรกับลูกค้าบ้าง เช่น ผลกระทบต่อภาคเกษตร หรือโรงงาน หากมีการปิดโรงงานหรือการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง ก็จะมีผลกระทบต่อลูกค้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทยังไม่เห็นสัญญาณ อาจจะต้องรอติดตามหลังการเลื่อนการเก็บภาษี 90 วัน โดยบริษัทจะปรับเปลี่ยนนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
ขณะที่แหล่งเงินทุน บริษัทมีการกระจายแหล่งเงินทุน โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่มีการกู้ยืมในต่างประเทศด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง ประกอบกับที่ไทยได้ถูกมูดีส์ปรับมุมมองเครดิตเรตติ้งจาก “เชิงบวก” เป็น “เชิงลบ”
ดังนั้น แม้ว่า กนง.ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 1.75% ต่อปี ซึ่งโดยหลักการจะส่งผลต่อต้นทุนการเงินปรับลดลง แต่ปัจจุบันยังไม่สะท้อน ทำให้โจทย์ปีนี้บริษัทจะเน้นการกระจายแหล่งเงินทุน
โตโยต้าร่วมดีลเลอร์คุมต้นทุน :
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังจากธนาคารโลกปรับ GDP ของไทยต่ำสุดในอาเซียน ที่ผ่านมาโตโยต้าได้สื่อสารกับภาครัฐตลอดถึงข้อเสนอเพื่อจะให้เศรษฐกิจกระตุ้นขึ้นมา เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มีคนเกี่ยวเนื่องเกือบล้านคน ตรงนี้ค่อนข้างยาก แต่ก็ต้องอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะมาช่วย
วันนี้สถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง มีหลากหลายตัวแปร โตโยต้ามองว่ามีผลกระทบแน่นอน ทั้งการปรับลด GDP และภาษีทรัมป์ต่อประเทศไทย ซึ่งต้องมองอย่างรอบคอบ และต้องทำให้มั่นใจว่าเมื่อถึงวันที่ตลาดฟื้นตัว เราจะต้องมีซัพพลายรองรับเพียงพอ
“เบื้องต้นโตโยต้าและผู้แทนจำหน่ายได้ทำงานร่วมกันอย่างหนัก เพื่อบริหารจัดการต้นทุน ลดต้นทุนในส่วนของโอเปอเรชั่นต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดเรื่องการบริการลูกค้า โตโยต้ายังเน้นความเป็นที่หนึ่งในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ความคงทน เพื่อช่วยกันและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง”
เร่งดันรายได้บริการชดเชย :
ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจที่ลดลงว่า ผู้ประกอบการคงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์จะมองตลาดเป็นหลัก และดีมานด์การแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกำลังซื้อของลูกค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น หมายความว่ามีความเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยตรง
แต่ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจก็เคยมีมาแล้ว เช่น ปีที่แล้วเศรษฐกิจไม่ดี แต่ตลาดรถพรีเมี่ยมโตขึ้น
“ผลกระทบรถยนต์แต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจังหวะของผู้ประกอบการมีซัพพลายสอดคล้องกับความต้องการในเวลานั้น ๆ หรือไม่ ในส่วนของกิจกรรมทางธุรกิจ ในภาวะที่ยอดขายเริ่มหดตัว เอ็มจีต้องทำงานร่วมกับดีลเลอร์เพื่อผลักดันให้เกิดการบริการหลังการขายมาช่วยให้ดีลเลอร์อยู่ได้ และถือเป็นกลวิธีหลักที่ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้ และเอ็มจีติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”
มาม่าดีมานด์ล้นเร่งลงทุนเพิ่ม :
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ฉายภาพว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องคัดเลือกสินค้าที่จะซื้อมากขึ้น โดยอาจเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ หรือมีแนวโน้มจะขึ้นราคาก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาม่านั้นเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ระดับราคาที่จับต้องง่าย ขณะที่ปัจจุบันความต้องการ (ดีมานด์) สินค้ายังล้น แม้บริษัทจะใช้กำลังผลิตของโรงงานจนเต็มแล้ว เนื่องจากไม่ได้เพิ่มกำลังผลิตมา 2-3 ปี เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19
ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2568 ไปอีก 2-3 ปี จะเป็นช่วงเวลาของการลงทุนขยายกำลังผลิตทั้งในไทยและต่างประเทศ สำหรับในไทยเตรียมเพิ่มเครื่องจักรอีก 3-4 เครื่อง หลังเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพิ่มไลน์ผลิตใหม่อีก 1 ไลน์ ส่วนในต่างประเทศกำลังสร้างโรงงานในกัมพูชา
ขณะที่โรงงานในเมียนมาเริ่มเดินเครื่องแล้ว ทั้งนี้เพื่อรองรับโอกาสที่จะเข้ามาได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีมานด์ในประเทศ หรือการขยายตลาดในต่างประเทศ
สำหรับด้านต้นทุน ทั้งแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม แม้จะขยับสูงขึ้น แต่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และบริษัทรับมือด้วยการทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว
ขณะที่นางสาวอัจฉรา บุรารักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้านอาหารในเครือไอเบอร์รี่กรุ๊ป กล่าวว่า แม้แนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังมีความท้าทายและทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่าย แต่ธุรกิจอาหารยังมีโอกาส เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องทานอาหาร จึงอาจกระทบประมาณ 10-15% ซึ่งต้องรอดูสักระยะหนึ่งก่อน
โดยแบรนด์ในเครือของไอเบอร์รี่กรุ๊ป แม้จะไม่หวือหวามากเหมือนช่วงเศรษฐกิจดี แต่มั่นใจว่าจะสามารถบริหารยอดขายให้อยู่ในกรอบที่ตั้งเป้าไว้
SUN หันทำตลาดในประเทศ :
นายองอาจ กิตติคุณชัย นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท หรือ SUN เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดส่งออกหลักของซันสวีท คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ราว 50% ขณะที่ส่งออกไปอเมริกาน้อยมากราว 2-3% ดังนั้น ผลกระทบทางตรงกับตลาดอเมริกาไม่มาก แต่หากเศรษฐกิจอเมริกาอ่อนแอก็อาจมีผลกระทบต่อซันสวีทบ้างในปั้นปลาย
จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว รวมถึงอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้ซันสวีทต้องปรับตัวหันมามุ่งเน้นตลาดในประเทศมากขึ้น ทั้งขยายตัวกลุ่มสินค้าพร้อมทานเข้าสู่ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น รวมถึงตลาดโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือตลาดกลุ่ม HORECA มากขึ้น ซึ่งในประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นหลังจากโควิดคลี่คลาย แม้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่มาเต็มที่ แต่นักท่องเที่ยวจากตลาดอื่น ๆ ก็เข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดในประเทศของซันสวีทเติบโตมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีการเติบโตมากกว่า 30%
GULF-เดลต้าไร้ผลกระทบ :
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว รวมถึงมีการปรับ GDP เหลือ 2.1% ในส่วนของ GULF ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นธุรกิจพลังงานที่มีสัญญา มีผลระยะยาว เช่น สัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยขายไฟให้กับ กฟผ. ประมาณ 94% อีก 5-6% ขายให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนนี้จะไม่มีผลกระทบ ยังคงเดินหน้าตามแผนการลงทุนต่อเนื่อง
นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ดีขึ้น แต่แผนการลงทุนของเดลต้าฯจะยังไม่มีการทบทวนหรือชะลอออกไป ทั้งไม่มีแผนจะปรับลดคน ลดเวลางาน
เพราะทุกแผนคือการมองระยะยาวที่มีลงทุนไปแล้ว เซ็นสัญญากับลูกค้าไปแล้ว 5-10 ปี และไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่ (โรงงานเวลโกรว์ 3 และ 4) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นไลน์การผลิต Liquid Cooling รองรับการลงทุน Data Center รวมถึงรองรับกลุ่มธุรกิจพาวเวอร์ซัพพลาย และกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
“นลินี” นำทีมเอกชนไปสหรัฐ :
รายงานข่าวแจ้งว่า นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย มีกำหนดเดินทางไปสหรัฐช่วงระหว่างวันที่ 9-16 พฤษภาคม 2568 เบื้องต้นการเดินทางเยือนครั้งนี้ คาดหมายว่าเป็นการเข้าไปเจรจาพูดคุยในเรื่องประเด็นแนวทางความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนในสหรัฐ และอาจมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำเข้าสหรัฐด้วย โดยทีมเอกชนที่จะเดินทางร่วมไปด้วยอาทิ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าไทย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รวมถึงผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 พฤษภาคม 2568