เครดิตไทยร่วง! ภาคธุรกิจระส่ำ "มูดี้ส์" หั่นเรตติ้ง ต้นทุนกู้เงินนอกจ่อพุ่ง
บิ๊กเอกชนกังวล "มูดี้ส์" ปรับเครดิตเรตติ้งไทยเป็นเชิงลบรอบ 17 ปี กระทบเชื่อมั่น ต้นทุนกู้ยืมเงินต่างประเทศจ่อพุ่ง จี้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ถกภาษีสหรัฐโชว์แกร่ง รมว.คลังยันประเทศไทยยังแข็งแรง ลงทุนนอกไหลเข้า สบน.ลุ้นอีก 2 สถาบันประกาศความน่าเชื่อถือปลายปีนี้
สร้างความกังวลให้กับรัฐบาล ภาคเอกชน และคนไทยไม่น้อย เมื่อ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกได้ประกาศปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ และมีความเสี่ยงจากภาษีศุลกากรของสหรัฐที่คาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้มีการมองว่าการปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นเชิงลบ จะส่งผลกระทบต่อไทยในหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ, ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นโดยเฉพาะบริษัทที่ต้องออกหุ้นกู้ในตลาดต่างประเทศ, ผลต่อค่าเงินบาท, ผลต่อนโยบายการคลังและการเมือง, ผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ยังผลให้ผู้บริหารภาคเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการได้ออกมาให้ความเห็นกันในวงกว้าง
สัญญาณไทยต้องเร่งปรับตัว :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเด็นที่มูดี้ส์ฯ ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยเป็นเชิงลบจากเดิมคงความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ Baa1 หรือมีเสถียรภาพ ในเรื่องนี้การปรับลดย่อมแย่กว่าการปรับขึ้นอย่างชัดเจน หรือการให้เครดิตเรตติ้งเท่าเดิมก็เสมือนเหตุการณ์เป็นปกติ ทั้งนี้ การปรับลดดังกล่าวมาจากการที่มู้ดี้ส์ หรือในมุมมองจากต่างชาติมีการวิเคราะห์ และเห็นว่าโครงสร้าง และแนวทางด้านเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยสู้ดีเท่าใดนัก
“มูดี้ส์เป็นองค์กรที่ประเมินขีดความสามารถของแต่ละประเทศ และได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไทยเป็นเชิงลบ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นไม่มากก็น้อย”
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคเอกชนเองก็มีความรู้สึกอยู่ก่อนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจเท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งที่ได้รับการประเมินออกมาตรงกับหลายสิ่งที่พอจะรับรู้ปัญหา และรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข เพียงแต่อาจจะยังทำได้ยังไม่ดีพอ
อย่างไรก็ดี การที่มูดี้ส์ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากไทยยังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ไม่ดีพอ ซึ่งไทยเองก็รับรู้ถึงปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือ เมื่อมูดี้ส์มีการปรับความน่าเชื่อถือลดลงเป็นเชิงลบ หากไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ในการประเมินครั้งต่อไปมูดี้ส์ก็อาจจะปรับให้กลายเป็นบวกได้เช่นเดียวกัน และตรงกันข้ามหากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีพอ ก็มีโอกาสที่จะถูกปรับเครดิตลดลงได้อีกเช่นกัน
ความน่าเชื่อถือลดลง-ต้นทุนกู้ยืมเงินสูง :
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ส.อ.ท. รวมถึงภาคเอกชนเองมองว่า ถึงเวลาที่ไทยควรเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาถือว่ายังทำได้ไม่เร็วเท่าที่ควร จึงเป็นสิ่งที่มูดี้ส์มองเห็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงปรับเครดิตเป็นเชิงลบดังกล่าว เวลานี้มีปัญหาหลายอย่างที่ยังสะสม และค้างคาอยู่ โดยข้อความที่มูดี้ส์สื่อออกมาในครั้งนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่รับรู้กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน การพึ่งพาการส่งออก และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังพยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“หากถามว่าผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี จากการให้เรตติ้งลดลงไปสู่เชิงลบ โดยมุมมองดังกล่าวอาจจะประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ไทยเองก็มีปัญหาค้างคามานาน และที่สำคัญคือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดีพอ ทั้งนี้การปรับลดเครดิตย่อมส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และการกู้ยืมให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความน่าเชื่อถือจะลดลงตามเรตติ้ง แต่อย่างน้อยมูดี้ส์ยังมีมุมมองที่ดีต่อไทยเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังแข็งแกร่ง”
หอฯห่วงกระทบเชื่อมั่น-ตลาดเงิน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของประเทศไทยสู่เชิงลบ มองเป็นสัญญาณที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังพยายามดึงดูดเงินทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้แม้จะยังไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิตโดยตรง แต่การเปลี่ยนแนวโน้ม (Outlook) เป็นเชิงลบ ถือเป็น “สัญญาณเตือน” ถึงความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะประเด็นด้านวินัยการคลัง การบริหารหนี้สาธารณะ และประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และส่วนหนึ่งเชื่อว่า มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่กระทบหลายประเทศที่มีการส่งออกและค้าขายกับสหรัฐ
จี้เร่งดันท่องเที่ยว-บริโภค-ลงทุน ดันศก. :
“หอการค้าไทยฯ ยังเชื่อมั่นว่า แม้ในภาวะที่ความเชื่อมั่นในบางด้านอาจลดลง ประเทศไทยยังมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นที่พร้อมเดินหน้าต่อ ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชนและต่างชาติ”
ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยและ GDP ในภาพรวม ตามหลักการค้าระหว่างประเทศ ที่เคยแจ้งว่าเป็นแบบ “กาลักน้ำ” เมื่อได้รับผลกระทบ สินค้าอย่างไรก็ต้องไหลไปที่อื่น ดังนั้นการเร่งขยายตลาดใหม่ในประเทศที่มีศักยภาพ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ไทยควรเร่งดำเนินการ
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำ 2% :
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีมูดีส์ ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่ “เชิงลบ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงเนื่องมาจากสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0 อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจไทยที่มีการขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้า เวลานี้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะต่ำกว่า 2% และอาจจะมีความเสี่ยงที่โตต่ำกว่านั้นได้ ถ้าหากไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้สูงจากสหรัฐ
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด มีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศทั้งสินค้าบริการคิดเป็นสัดส่วน 125% ของ GDP ดังนั้นไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ทางมูดี้ส์จึงมองไทยมีความเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะตกชั้น อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราจะตกชั้น และไม่น่าลงทุน เพราะไทยมีความเข้มแข็งทางการคลังคือ มีหนี้สาธารณะต่ำ(ปัจจุบันอยู่ที่ 64% ต่อจีดีพี) เศรษฐกิจไทยก็ยังมีสัญญาณโตบวก และยังมีโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้ และคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่กระทบการลงทุน
รมว.คลังยันไทยยังแข็งแรง :
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า กรณีมูดี้ส์ ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทยสู่มุมมองเชิงลบนั้น ยืนยันว่าความสามารถในการชำระเงินประเทศไทยค่อนข้างมีความแข็งแรง ส่วนในด้านของต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลนั้น รัฐบาลกู้เงินจากต่างประเทศน้อยมาก และยืนยันว่าประเทศไทยยังแข็งแรงอยู่
ส่วนข้อกังวลต่อเศรษฐกิจไทย เรื่องเงินลงทุนในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกานั้น พบว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ขยายตัวกว่า 90 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในภาคสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยหลายกลุ่ม

“การกู้เงินของเราถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่การของบประมาณ ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินนั้น เรายังไม่ได้สรุปเรื่องนี้ จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน และสิ่งที่มูดี้ส์ คาดการณ์ผลกระทบจากสหรัฐฯ นั้น เรามองว่าหากกระทบก็ได้รับผลกระทบกับทุกประเทศ” นายพิชัย กล่าว
สบน.เผยลดเชิงลบรอบ 17 ปี :
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า หลังจากมูดี้ส์ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือเป็นเชิงลบ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 68 นั้น ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 หรือในรอบ 17 ปี
“ที่ผ่านมามูดี้ส์ได้มีการปรับขึ้น และลดมุมมองความน่าเชื่อถือไทย โดยช่วงปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้ปรับลดมุมมองความน่าเชื่อถือเป็น Negative จากนั้น 2 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น Stable ต่อมาในปี 2562 ได้ปรับเป็น Positive และในช่วงโควิดที่ผ่านมา ได้ปรับลดลงมาเป็น Stable ซึ่งทุกครั้งที่มีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือจะมีเหตุการณ์เข้ามา”
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา แนวโน้มประเทศ อื่นๆ ก็ได้รับการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ประเทศอิสราเอล และจอร์เจีย ก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศจีน และเบลเยียม ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือก่อนนโยบายภาษีสหรัฐฯ ประกาศออกมาด้วย
“แม้มูดี้ส์ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือไทยเป็นลบ แต่วันนี้ (30 เม.ย. 68) ดัชนีตลาดการเงิน และตลาดทุนไม่ได้รับผลกระทบ โดยนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตลาดหุ้นเป็นบวก สำหรับภาคการเงินนั้น สบน.ได้มีการประมูลปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตร 50 ปี วงเงิน 7,000 ล้านบาท สบน.ก็ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 0.14% และมีผู้ประมูลสูงถึง 2.18 เท่า ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าว ไม่ได้มีผลต่อต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่มีผลกระทบ ซึ่งเราก็ติดตามอย่างใกล้ชิด
ลุ้น 2 สถาบันจ่อประกาศเรตติ้งไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปียังเหลือ 2 สถาบันเครดิต ได้แก่ Fitch Ratings และ S&P Global Ratings จะออกรายงานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ฉะนั้น ช่วงเวลาหลังจากนี้ก็หวังว่าจะมีอะไรที่ออกมาดีขึ้น เราพร้อมเตรียมการรองรับต่อไป เนื่องจากเรื่องนโยบายภาษีสหรัฐฯ เป็นปัจจัยภายนอก แต่เรื่องปัจจัยภายในเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูประบบภาษี และอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไทยควรแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
ทั้งนี้ เชื่อว่าสถาบันจัดอันดับยังมองว่าความมั่นคงของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากความสามารถการชำระหนี้ ซึ่งปีงบประมาณ 2568 นั้น สบน. ได้รับจัดสรรงบชำระหนี้เงินกู้ ที่กำหนดเพดานไว้สูงสุด 4% วงเงินรวม 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าว ได้รวมการชำระหนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย
ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรพุ่ง
อนึ่ง การลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยของมูดี้ส์จาก Stable เป็น Negative ต่อต้นทุนการเงินไทย จะส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จาก 4% เพิ่มเป็น 4.50%, ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ขึ้นจาก 1.8% เป็น 2%, ต้นทุนทางการเงินของเอกชนไทยจะอยู่ที่ 4.20-4.75%, ค่าเฉลี่ย Credit Spread ตราสารหนี้ภาคเอกชนอันดับ BBB อายุไม่เกิน 3 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 301 bps. จาก 283 bps. (2 เม.ย. 2568)
ค่าเฉลี่ยเครดิตระดับ AA+ 3.2-3.5% ต้นปี-28 เม.ย. 2568 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติสุทธิ 6.28 หมื่นล้านบาท (เทียบกับที่ไหลออกสุทธิ 6.74 หมื่นล้านบาทในปี 2567) โดยเกือบ 85% เป็นการไหลเข้าในเดือนเมษายน หลังการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568