จีนระดมเงินก้อนใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน
การประชุมสองสภาของจีน ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2025 โดยผลการประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนเพิ่มน้ำหนักไปที่การกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น และกลับมาจับมือภาคเอกชนอย่างเต็มที่อีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ 5% ตามเดิม ขณะที่ภัยคุกคามจากสงครามการค้า ยังคงมีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
เนื่องจากจีนประสบปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศซบเซา จึงได้ปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อลงมาที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากไม่สามารถบรรลุกรอบ 3% ที่ใช้มาเป็นเวลานานได้อีกต่อไป จากผลกระทบของวิกฤตในภาคอสังหาฯ
ล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ลดลง 0.7% ต่ำกว่าศูนย์ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง 0.1% เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2021 ส่งสัญญาณให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
“ลอรา หวัง” หัวหน้านักกลยุทธ์ประจำภูมิภาคจีน ของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศระดับสูงเช่นนี้ ซึ่งรัฐบาลระบุถึง “การบริโภค” มากถึง 27 ครั้งในรายงาน
ขณะที่ “ทิลลี จาง” นักวิเคราะห์จากกาเวคัล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) ตั้งข้อสังเกตว่า การบริโภคถูกยกระดับความสำคัญแทนที่เทคโนโลยี ซึ่งเคยเป็นประเด็นหลัก เห็นได้ว่ารายงานในปีนี้ รัฐบาลจีนพูดถึงคำว่า “พลังการผลิตใหม่” หรือการผลิตขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าลดลงไปจากปีก่อน
รัฐบาลจีนยังคงเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การแจกเงินสด เช่น การเพิ่มงบฯโครงการอุดหนุน “สินค้าเก่าแลกซื้อสินค้าใหม่” อีกสองเท่า จาก 150,000 ล้านหยวน เป็น 300,000 ล้านหยวน โดยเป็นการอุดหนุนเงินราว 15-20% ของราคาสินค้า ไล่ตั้งแต่สมาร์ทโฟนระดับกลาง ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยนำเงินจากการออกพันธบัตรพิเศษมาใช้ในการอุดหนุน
เจค็อบ คุก ซีอีโอดับบลิวพีไอซี มาร์เก็ตติ้ง พลัส เทคโนโลยี (WPIC Marketing+Technologies) กล่าวว่า เงินอุดหนุนครั้งใหม่นับเป็นปริมาณที่ “ค่อนข้างมาก” และน่าจะช่วยเพิ่มยอดค้าปลีกได้เป็นอย่างดี และแม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่เชื่อได้ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมอีกเรื่อย ๆ ในปีนี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบายการคลังเชิงรุก ด้วยการกำหนดจัดทำงบประมาณของปี 2025 แบบ “ขาดดุล” ประมาณ 4% ของจีดีพี หรือขาดดุลเพิ่มขึ้น 1% จากปี 2024 ซึ่งเป็นระดับขาดดุลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้รัฐบาลจีนมีโควตาการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 11.86 ล้านล้านหยวน เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปีนี้รัฐบาลจีนออกพันธบัตรไปแล้ว 6.5 ล้านล้านหยวน ประกอบด้วย 1) ออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษ 4.4 ล้านล้านหยวน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละมณฑล 2) ออกพันธบัตรระยะยาวพิเศษ 1.3 ล้านล้านหยวน สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) ออกพันธบัตรพิเศษสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ 500,000 ล้านหยวน
หมายความว่ารัฐบาลจีนยังสามารถออกพันธบัตรได้อีก 5.4 ล้านล้านหยวน เพื่อมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 16 มีนาคม 2568