"เวิลด์แบงก์" หั่นจีดีพี "ไทย" เหลือ 1.6% โตเกือบต่ำสุดในอาเซียน
"เวิลด์แบงก์" หั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.6% ต่ำสุดในอาเซียนรองแค่เมียนมาที่เกิดสงครามภายใน ผลพวงนโยบายการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนที่พุ่งสูง
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานอัปเดตแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับเดือนเม.ย. 2025 โดยได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของ "ประเทศไทย" ในปี 2568 เหลือเพียง 1.6% หรือลดลงมากถึง 1.3 จุดเปอร์เซนต์ จากเดิมที่เพิ่งจะปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีของไทยไปอยู่ที่ 2.9% ในรายงานอัปเดตฉบับเดือน ม.ค. 2568
ส่วนในปีหน้า 2569 ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยลงมาเหลือ 1.8% ลดลง 0.9 จุดเปอร์เซนต์ จากเดิมที่ 2.7% ในคาดการณ์เดือนม.ค.
การปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยในครั้งนี้ "ยังนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน" (ไม่รวมสิงคโปร์และบรูไน ส่วนเมียนมาเป็นเคสเฉพาะที่เกิดสงครามกลางเมืองภายในและแผ่นดินไหวรุนแรง) ขณะที่ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็เพิ่งปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.8% และปีหน้าเหลือ 1.6%
ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราการเติบโตในปี 2568 เมื่อเทียบกับรายงานฉบับเดือน ม.ค. 2568 ดังนี้
- จีน เติบโต 4.0%
- เวียดนาม เติบโต 5.8%
- ฟิลิปปินส์ เติบโต 5.3%
- อินโดนีเซีย เติบโต 4.7%
- กัมพูชา เติบโต 4.0% จาก
- มาเลเซีย เติบโต 3.9% จาก
- สปป.ลาว เติบโต 3.5% จาก
- ไทย เติบโต 1.6%
- เมียนมา เติบโต -1.0%
World bank ยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ลงมาอยู่ที่ 4.0% จากคาดการณ์ล่าสุดเดือนม.ค. ที่ 4.6% โดยระบุว่า การปรับลดจีดีพีมีขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน ซึ่งจากความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วย
อย่างไรก็ดี "แนวโน้มการเติบโตดังกล่าวอาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก" ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตในภาพรวมและอีกส่วนขึ้นอยู่กับนโยบายในการตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ
ความไม่แน่นอนในเวทีโลกระดับสากลที่เพิ่มมากขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคถูกจำกัด นอกจากนี้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้า ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงลดลงต่อไป
มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า “ในขณะที่ต้องหาทางรอดท่ามกลางโลกที่ผันผวน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกก็ยังมีโอกาสที่จะรักษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้โดยการลงทุนและรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการปฏิรูปอย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือระดับสากลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ทางธนาคารโลกได้เสนอแนะแนวทางการตอบสนองเชิงนโยบาย 3 ประการ ดังนี้
1)การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถกระตุ้น "ผลิตภาพ" ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการสร้างงานที่เพิ่มขึ้นมาใช้ ดังที่ "มาเลเซีย" และ "ไทย" ได้ดำเนินการไว้
2)การปฏิรูปเพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านการบริการ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดังที่เห็นได้จากกรณีของ "เวียดนาม"
3)การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งทางเศรษฐกิจได้
“การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการปฏิรูปที่จริงจังและความร่วมมือเชิงนวัตกรรมสามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและความท้าทายในระยะยาวได้” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว “นั่นคือสูตรสำหรับการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 เมษายน 2568