ถอดบทเรียน CPTPP ไทยได้–เสียอะไร หากร่วมวงเต็มตัว
เจาะลึก CPTPP ข้อตกลงการค้าเสรีระดับสูง ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกและการลงทุนเพิ่ม เสริมอำนาจการต่อรองบนเวทีโลก แต่ยังเผชิญความเสี่ยงด้านเกษตรกรรม สิทธิบัตรยา และการเปิดเสรีภาคบริการ หากไร้มาตรการรองรับ
CPTPP หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (CPTPP) มีทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ เวียดนาม และ สหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ CPTPP ถือเป็นหนึ่งใน FTA สมัยใหม่ที่ข้อตกลงคลอบคลุมมากกว่าด้านการค้า การลงทุน แต่ขยายขอบเขตไปถึงภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สมาชิกต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ International Union for the Protection of New Varieties of Plants (UPOV) 1991
ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ :
ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและ เม็กซิโก ที่ไทยมีสัดส่วนส่งออก 2% ซึ่งสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีโอกาสขยายการส่งออกส่งผลให้ GDP ในการส่งออกเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การทำ CPTPP จะสามารถดึงต่างประเทศมาลงทุนในไทยได้ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต และส่งออกไปให้ประเทศสมาชิก จะเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น มีตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของคนไทย
ขณะเดียวกันจะทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น เนื่องจากมีการคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ อย่างเป็นระบบระเบียบเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาทุกประเภท business person ได้แก่ นักธุรกิจ (Business Visitor), ผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทในเครือ (Intra-Corporate Transferee), นักลงทุน (Investor), ผู้ให้บริการวิชาชีพอิสระ (Independent Professional) และ ผู้ให้บริการตามสัญญา (contractual service supplier)
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ สำหรับผู้ให้บริการ ซึ่งครอบคลุมถึงการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ที่ดำเนินงานในตลาดทั่วโลก ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนทั่วโลก เข้าถึงข้อมูลและกฎการค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ผลเสียหากไทยเข้าร่วม CPTPP :
ด้านภาคเกษตรกรรม :
ไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้
โดยจะส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น
ด้านภาคการแพทย์ :
การผูกขาดสิทธิบัตรยา ส่งผลให้ยามีราคาแพงมากขึ้น กระทบการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการผลิตยาภายในประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน เรามียาที่ราคาถูก เพราะเราสามารถวิจัย และผลิตยาในประเทศได้ ถ้ายาที่ผลิตและขึ้นทะเบียนเป็นยาตัวแรกหมดสัญญาลง เช่น ยาพารา เราสามารถวิจัยว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง และนำสูตรมาผลิตเองในประเทศได้
ด้านภาคการบริการ :
โดย CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนที่หมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป
ผลประโยชน์ของสมาชิก CPTPP :
ประเทศญี่ปุ่น – องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า มีการศึกษาผลจากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 7.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าข้อตกลงที่ทำกับสหภาพยุโรป(อียู)โดยที่ CPTPP จะมีการลดภาษีสินค้าถึง 95% นอกจากประโยชน์ที่จะได้จากการส่งออก ญี่ปุ่นยังมองถึงการเชื่อมโยงประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมธุรกิจ E-commerceที่ จะช่วยเสริมธุรกิจภาคบริการของและดิจิทัลของญี่ปุ่นในอนาคต
ประเทศเวียดนาม – เวียดนามได้เข้าร่วม CPTPP ตั้งแต่ปี 2519 (พ.ศ. 2562) และหลังจากนั้น 1 ปี เวียดนามพบว่ามูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.11 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้านับเฉพาะในกลุ่มลาตินอเมริกา (เม็กซิโก เปรู และชิลี) เป็นการเติบโตสูงถึง 26.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 (พ.ศ. 2562) โดยเฉพาะกับประเทศชิลีที่เติบโตสูงถึง 36.40%
สหราชอาณาจักร - CPTPP จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ขณะที่การเชื่อมโยงการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) มีความหลากหลาย และมั่นใจได้ว่าในอนาคต สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สร้างประโยชน์ให้ประเทศในระยะยาว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 25 มิถุนายน 2568