นโยบายกวาดล้างคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐอเมริกา (Immigration and Customs Enforcement: ICE) ได้ปฏิบัติตามมาตรการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของรัฐบาลกลางอย่างเข้มงวด จนนําไปสู่การจับกุมแรงงานผิดกฎหมายเป็นจํานวนมากในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งพึ่งพาแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่สูงจนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งในระดับรัฐฯ รวมถึงระดับชาติเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย
ความสําคัญของแรงงานต่างชาติต่อเศรษฐกิจรัฐแคลิฟอร์เนีย :
ปัจจุบัน เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา พึ่งพาแรงงานที่มีถิ่นกําเนิดในต่างประเทศอย่างมีนัยสําคัญ โดยในระดับประเทศ อัตราส่วนของผู้มีถิ่นกําเนิดในต่างประเทศ คิดเป็นอัตรา 1 ใน 5 ของตําแหน่งงานทั้งหมด ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย คิดเป็นอัตรา 1 ใน 3 โดยแรงงานส่วนใหญ่ทํางานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร โกดังสินค้า ธุรกิจดูแลสุขภาพที่บ้านและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจที่พัก และธุรกิจบริการจัดสวนและทําความสะอาดอาคาร ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของแรงงานต่างชาติ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสําคัญของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเศรษฐกิจของรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่การกวาดล้างแรงงานจะส่งผลให้กิจการหยุดชะงักและอาจปิดตัวลงในที่สุด
ผลกระทบทางเศรษฐกิจในรัฐแคลิฟอร์เนีย :
ระยะสั้น
(1) มาตรการการกวาดล้างผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายในรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและผลิตเสื้อผ้า ซึ่งพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นจํานวนมาก โดยแรงงานส่วนใหญ่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย การบุกจับแรงงานผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ ICE ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานนอกระบบส่วนมากหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวในสถานที่ทํางาน ส่งผลให้โครงการก่อสร้างหยุดชะงัก รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็กประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกําลังส่งผลให้ต้นทุนแรงงานในรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจชะลอตัวลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การประท้วงที่ยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้เริ่มสร้างความกังวลให้แก่นักท่องเที่ยวและลดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจํานวนหนึ่งยกเลิกแผนการเดินทางมายังนครลอสแองเจลิส ถึงแม้เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงฯ เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ แต่ในภาพรวมได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองที่มีจุดเด่นในด้านความหลากหลาย เหตุการณ์ในครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระยะยาว
มาตรการข้างต้นอาจส่งผลทําให้รายได้ประชาชนลดลง งานวิจัยในวารสาร American Economic Review ระบุว่า หากมีการเนรเทศแรงงานผิดกฎหมายออกจากประเทศทั้งหมด ภายในเวลา 5 ปี รายได้เฉลี่ยของประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนียจะลดลงปีละ 970 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รัฐฟลอริดาจะลดลง 560 ดอลลาร์สหรัฐ และรัฐเท็กซัสจะลดลง 187 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานผู้อพยพคือฟันเฟืองสําคัญต่อการรักษารายได้ของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา
จากข้างต้น สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ให้ข้อสังเกตว่า นอกจากนโยบายการปราบปรามผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายแล้ว มาตรการกําแพงภาษีนําเข้าของสหรัฐอเมริกายังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่อเมืองท่าอย่างนครลอสแอนเจลิสและเมืองลองบีช โดยท่าเรือลอสแอนเจลิสในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมูลค่ายอดการขนส่งสินค้าลดลงร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ในช่วงต้นปี ส่งผลให้แรงงานที่ทํางานในท่าเรือกว่าร้อยละ 50 ไม่มีงานรองรับในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ข้อมูล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 25 มิถุนายน 2568