83% ของผู้บริหารไทยเชื่อพนักงานทำงานดีขึ้น เมื่อมี AI มาแบ่งเบาภาระ
Microsoft เผยผลสำรวจ Work Trend Index ปี 2025 พบ 83% ของผู้บริหารเชื่อพนักงานทำงานดีขึ้นเมื่อมี AI มาแบ่งเบาภาระ เดินหน้าปรับองค์กรสู่การเป็น "Frontier Firm" ผสานการทำงานกับ AI อย่างลงตัว
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจของรายงาน Work Trend Index ปี 2025 ที่ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร และพนักงานกว่า 31,000 คน จาก 31 ประเทศทั่วโลก สะท้อนถึงความท้าทายที่คนทำงานในปัจจุบันต้องเผชิญ โดย 88% ของพนักงานไทยไม่มีแรง และเวลาเพียงพอที่จะรับมือกับงานในมือ
และจากสถิติการใช้งานเครื่องมือและบริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม Microsoft 365 ระบุว่า คนทำงานทั่วโลกจะได้รับข้อความแจ้งเตือนเรื่องต่าง ๆ ทุก 2 นาทีโดยเฉลี่ย หรือคิดเป็น 275 ครั้งในแต่ละวัน ซึ่งการแจ้งเตือนดังกล่าว อาจมาจากทั้งอีเมล์ ข้อความแชต หรือตารางนัดประชุม
นอกจากนี้ ราวครึ่งหนึ่งของการประชุมในแต่ละวันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 09.00-11.00 น. และ 13.00-15.00 น. ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำงานแต่ละวัน
“ผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่คนทำงานมีแรงและเวลาที่จำกัด ระบบ AI หรือ Agentic AI ที่สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล พร้อมให้องค์กรนำไปปรับใช้ในรูปแบบที่เหมาะสม”
นายธนวัฒน์กล่าวต่อว่า การสร้างทีมแบบไฮบริดที่มีพนักงานเป็นผู้บริหาร AI จึงเป็นคำตอบที่องค์กรจำนวนมากเลือก โดยองค์กรในไทยราว 68% ได้นำ AI เข้ามาเปลี่ยนระบบงานบางส่วนให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติแล้ว
ขณะเดียวกันอาจได้เห็นโครงสร้างองค์กร และเส้นทางในอาชีพการงานเปลี่ยนแปลงไป เมื่อ 83% ของผู้บริหารมองว่าพนักงานรุ่นใหม่จะมีโอกาสได้ทำงานเชิงกลยุทธ์และการวางแผนเร็วขึ้นหากมี AI เข้ามาแบ่งเบาภาระ และพาองค์กรไปสู่การเป็น “Frontier Firm” หรือองค์กรระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรมที่ผสานการทำงานของ AI
นายธนวัฒน์กล่าวด้วยว่า สำหรับองค์กรที่ต้องการปรับทิศทางเพื่อมุ่งสู่สถานะ Frontier Firm ทีมวิจัยของไมโครซอฟท์ได้แนะนำ 3 แนวทาง ดังนี้
(1)ใช้กฎ 80/20 แบ่งงานให้ AI
จากกฎที่ว่า 80% ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มาจากตัวแปรหรือเนื้องานเพียง 20% องค์กรในกลุ่ม Frontier Firm จึงอาจยกเนื้องานอีก 80% ที่สร้างผลลัพธ์ได้เพียง 20% นี้ไปให้ AI และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ รับมือแทน
(2)ปรับมุมมองสู่ผังเนื้องาน
เมื่อ AI สามารถทำงานได้โดยไม่จำกัดความรู้ความสามารถอยู่ในแผนกหรือด้านใดด้านหนึ่ง เส้นทางการติดต่อประสานงานต่าง ๆ จึงอาจเปลี่ยนไปในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดรอยต่อระหว่างแผนก เสริมความคล่องตัวให้องค์กรอีกระดับ
(3)บริหาร AI ให้เหมือนบริหารพนักงาน
AI ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ สามารถเรียนรู้ ยกระดับความสามารถ เสนอความคิดเห็น และเข้ารับการประเมินผลงานได้เช่นเดียวกับพนักงานที่เป็นมนุษย์ โดยอาจเริ่มจากการปรับคำสั่งพื้นฐาน เพิ่มชุดข้อมูลที่ AI สามารถเข้าถึงได้ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนความเห็นกับ AI โดยตรง ซึ่งจะเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตที่มนุษย์และ AI Agent ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ทิศทางการดำเนินงานในปัจจุบันของหลายองค์กรจะมี AI เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้คนทำงานต้องปรับตัวตลอดเวลา แต่นอกเหนือจากเรื่องของทักษะแล้ว ไมนด์เซตก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าคนในองค์กรไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ การใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มประสิทธิภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 มิถุนายน 2568