"สงคราม 12 วัน" จบของจริง? อิสราเอล-อิหร่าน ได้อะไรจากความขัดแย้งนี้
อัลจาซีราวิเคราะห์ "สงคราม 12 วัน" นำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ แล้วอิหร่านกับอิสราเอลได้อะไรจากความขัดแย้งนี้
ตะวันออกกลางได้เปลี่ยนผ่านจากสงครามที่ทวีความรุนแรงไปสู่สงครามที่เบาลงเมื่ออิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิง
ข้อตกลงสงบศึกเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคาร (24 มิ.ย.) และสงครามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเรียกว่า “สงคราม 12 วัน” ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้วในตอนนี้
ปธน.ทรัมป์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และผู้นำอิหร่าน ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าการยุติสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนด หรือการดำเนินการต่างๆ ของพวกเขาเอง
แล้วความจริงของเรื่องนี้คืออะไร อิสราเอลประสบความสำเร็จอย่างไร อิหร่านสามารถปกป้องทรัพย์สินเชิงยุทธศาสตร์ของตนได้จริงหรือ แล้วการสงบศึกครั้งนี้เป็นหนทางสู่สันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ อัลจาซีราวิเคราะห์ไว้ดังนี้
อิสราเอลได้พิสูจน์ฝีมือกำจัดภัยคุกคาม :
อิสราเอล กล่าวอ้างมาตลอดว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งต่อการดำรงอยู่ของประเทศ แต่ไม่เคยโจมตีอิหร่านเลยจนกระทั่งโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน วันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งโรงงานเสริมสมรรถนะเชื้อเพลิงในนาทานซ์และศูนย์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอิสฟาฮาน อิหร่านจึงตอบโต้ด้วยโดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลเพื่อเอาคืน
ก่อนหน้านี้อิสราเอลเคยโจมตีฐานนิวเคลียร์ในซีเรียและในอิรักมาก่อน แต่ปฏิบัติล่าสุดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า อิสราเอลสามารถทำภารกิจที่ซับซ้อนในแผ่นดินที่ห่างไกลกว่านี้ได้
อิสราเอลถูกกล่าวหาจากนานาชาติว่า ภารกิจดังกล่าวเป็นปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ใช่ทุกคนที่คิดว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริงๆ หรือมีแผนจะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับอิสราเอลในเร็วๆ นี้ แต่อิสราเอลอ้างว่าทำไปเพื่อป้องกันตัวล่วงหน้า
“ผมได้พูดคุยกับผู้นำโลก และพวกเขาประทับใจมากกับความมุ่งมั่นและความสำเร็จของกองทัพของเรา” เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.
นอกจากนี้ อิสราเอลยังได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถโน้มน้าวสหรัฐให้มีส่วนร่วมในการโจมตีในตะวันออกกลางแบบจำกัดขอบเขตได้
ย้อนไปสงครามก่อนหน้านี้ ในปี 1967 และ 1973 สหรัฐได้ให้การสนับสนุนทางอาวุธแก่อิสราเอลเพื่อใช้ในการถูกโจมตีศัตรู แต่ไม่ได้ช่วยเหลืออิสราเอลด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในปฏิบัติการต่างๆ
ทั้งนี้ ปฏิบัติการสิงโตผงาดต่อต้านอิหร่าน เกิดขึ้นหลังจากอิสราเอลต่อสู้กับพันธมิตรของอิหร่านมามากมายในภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มฮูตีในเยเมน กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เริ่มอ่อนแอลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ความเคลือบแคลงใจเรื่องโรงงานนิวเคลียร์ยังคงมีอยู่ :
อิสราเอลทำลายเป้าหมายเหนือพื้นดินในอิหร่าน และสหรัฐอ้างว่าสามารถทำลายล้างโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านในใต้ดินได้แล้ว จากการโจมตีด้วยระเบิดบังเกอร์บัสเตอร์ และภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าขีปนาวุธทรงพลังของสหรัฐ และขีปนาวุธของอิสราเอลสามารถโจมตีฐานนิวเคลียร์ในอิหร่านได้ รวมถึงโรงงานนิวเคลียร์ในฟอร์โดว์ที่อยู่ลึกลงไปในใต้ดิน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความเสียหายในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งต้องมีการตรวจสอบในพื้นที่จึงจะทราบความเสียหายที่แน่ชัด
ด้าน ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) บอกว่า หากพิจารณาจากปริมาณวัตถุระเบิดที่ใช้และความอ่อนไหวของเครื่องเหวี่ยงที่ไวต่อแรงสั่นสะเทือนมาก คาดว่า โรงงานในฟอร์โดว์อาจเกิดความเสียหายอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ทราบแน่ชัดคือ ยังไม่ทราบว่ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูงราว 400 กิโลกรัม ที่ IAEA ระบุว่าอิหร่านครอบครองนั้น อยู่ที่ไหนกันแน่
โมฮัมหมัด เอสลามี ผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูของอิหร่าน แถลงผ่านสำนักข่าว Mehr ว่า โครงการนิวเคลียร์ปลอดภัย “อิหร่านเตรียมฟื้นฟูการดำเนินงานไว้แล้ว และอิหร่านมีแผนในการป้องกันไม่ให้การผลิตหรือบริการหยุดชะงัก”
ขณะเดียวกัน ก็เกิดความสับสนและความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับที่มาของขีปนาวุธพิสัยไกล 2 ลูกที่โจมตีอิสราเอลเมื่อเช้าวันอังคาร (24 มิ.ย.) สามชั่วโมงครึ่งหลังจากเริ่มการหยุดยิง โดยอิสราเอลกล่าวหาว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงหยุดยิง แต่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าไม่ได้ยิงขีปนาวุธดังกล่าวแต่อย่างใด
คำถามคือ แล้วใครเป็นคนยิง? และขีปนาวุธเหล่านั้นถูกยิงโดยไม่ได้ตั้งใจจริงหรือ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในปี 2021 หรือไม่ ที่อิหร่านยิงขีปนาวุธทำให้เครื่องบินโดยสารของยูเครนตก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 176 ราย
โอกาสเกิดการโจมตีระลอกใหม่ :
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีทางเลือกในอนาคตอยู่ 2 ทาง สำหรับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
อย่างแรกคือ การตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านอีกครั้ง จากหน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอิหร่าน คล้ายกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 (Joint Comprehensive Plan of Action of 2015) ของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ อาจช่วยให้ลดแรงกดดันจากทั่วโลกต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านได้ แม้ว่าทรัมป์จะถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม
นี่คือจุดที่มหาอำนาจยุโรปสามารถเข้ามามีบทบาทได้ อย่างเช่น 3 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้เข้าพบกับอับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พร้อมด้วยคาจา คัลลาส ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการโจมตีของสหรัฐแม้ความพยายามดังกล่าวล้มเหลว และอียูไม่สามารถกดดันอิหร่านให้ประนีประนอมได้เพียงลำพัง แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจอันแข็งกร้าวของสหรัฐและอิสราเอลได้
โยอันนิส โคทูลาส อาจารย์พิเศษด้านภูมิรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเธนส์ กล่าวกับอัลจาซีราว่า “อิหร่านจะพยายามดึงยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้องทางการทูต โดยเสนอให้เพิ่มการตรวจสอบและให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตน” และว่าสหรัฐอาจยอมรับโครงการนิวเคลียร์ที่สันติได้ ซึ่งมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเคยพูดไว้แล้ว่า มีแนวโน้มที่สหรัฐอาจไม่พยายามบีบบังคับให้เกิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
“ยุโรปเป็นทางออกเดียวของอิหร่านในขณะนี้ รัสเซียไม่น่าเชื่อถือ” โคทูลาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ อิสราเอลเคยพยายามทำลายข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างตะวันตกกับอิหร่าน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะยอมรับข้อตกลงใหม่
อย่างที่สองคือ การเปิดใจยอมรับข้อตกลงใหม่ของอิหร่าน
คำถามคือ อิหร่านจะเปิดใจยอมรับการประนีประนอมได้อย่างไร หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับเตหะรานก่อนหน้านี้ ทั้งยังเปลี่ยนเป้าหมายในระหว่างการเจรจาเมื่อไม่นานนี้ และในที่สุดก็เข้าร่วมกับอิสราเอล ทิ้งระเบิดโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน แทนที่พวกเขาจะเจรจาข้อตกลงกัน?
อาลี อันซารี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อิหร่าน มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ กล่าวกับอัลจาซีราว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพลวัตภายในประเทศและแนวทางในการลดระดับการเสริมสมรรถนะ แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหวภายในประเทศให้ยุติการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแล้ว
จนถึงขณะนี้ อิหร่านดูเหมือนว่ายังคงไม่ยอมแพ้ที่จะเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป
โดยเมื่อวันจันทร์ คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติของรัฐสภาอิหร่านได้ผ่านร่างกฎหมายที่ผลักดันให้อิหร่านระงับความร่วมมือกับไอเออีเอ
ขณะที่เมื่อวันอังคาร ทรัมป์โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าเขาจะไม่อนุญาตให้โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
หากความตึงเครียดเรื่องดังกล่าวยังคงมีอยู่การปะทะกันรอบใหม่ที่อาจดึงสหรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่เร็วก็ช้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 มิถุนายน 2568