เกิดอะไรขึ้น ครั้งแรก "สี จิ้นผิง" ไม่ร่วมสุดยอดบริกส์
การประชุมสุดยอด BRICS กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะเริ่มต้นขึ้นที่บราซิล ในวันอาทิตย์นี้ แต่ไม่มีผู้นำสูงสุดประเทศทรงอิทธิพลที่สุดเข้าร่วม สะท้อนนัยการเมืองอย่างไร
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ผู้มีส่วนสำคัญทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS) เป็นศูนย์กลางการผลักดัน ปรับสมดุลอำนาจระดับโลกนั้น จะไม่เข้าร่วมการประชุมผู้นำในปีนี้
สมาชิกบริกส์บางประเทศ เผชิญเส้นตายในวันที่ 9 กรกฎาคม ในการเจรจาภาษีศุลกากรของสหรัฐ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำหนดขึ้น และต้องเผชิญเศรษฐกิจระดับโลกไม่แน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์การค้ากับสหรัฐ สิ่งนี้ได้เพิ่มแรงกดดันในการแสดงสามัคคีกันของกลุ่มบริกส์
การที่สี จิ้นผิงไม่อยู่ในที่ประชุมบริกส์ หมายความว่า ผู้นำจีนพลาดโอกาสสำคัญ จะแสดงให้เห็นว่า จีน เป็นอีกประเทศผู้นำที่มั่นคง มาแทนสหรัฐ
ปักกิ่งนำเสนอภาพลักษณ์ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน และเพิ่งยกระดับเพิ่มขึ้น หลังจากทรัมป์เปลี่ยนนโยบายเป็น "อเมริกาต้องมาก่อน" รวมไปถึงเหตุการณ์สหรัฐตัดสินใจ ร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน เมื่อเดือนที่แล้ว
แต่การที่ผู้นำจีนตัดสินใจจะไม่ไปร่วมสุดยอดบริกส์ที่บราซิล โดยส่งนายหลี่ เฉียง ผู้นำจีนหมายเลขสองไปแทนนั้น ไม่ได้หมายความว่า ปักกิ่งลดความสำคัญต่อกลุ่มบริกส์ลง หรือจะหมายความว่า กลุ่มนี้มีความสำคัญต่อปักกิ่งน้อยลง ในความพยายามสร้างกลุ่มต่างๆ ถ่วงดุลอำนาจตะวันตก
ชอง ชา แลน รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า “บริกส์เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของปักกิ่ง เพื่อทำให้แน่ใจว่า กลุ่มนี้ไม่ถูกจำกัดเพียงคำว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ"
"แต่แรงกดดันจากกลุ่มอาจลดลง เมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่ง" ชองกล่าวโดยอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อประธานาธิบดีสหรัฐ
"สำหรับสี จิ้นผิง กลุ่มบริกส์อาจไม่ใช่ "ความสำคัญที่สุดของผู้นำจีน" เนื่องจากสี เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ ปักกิ่งอาจไม่คาดหวังมาก ในการเห็นประชุมสุดยอดปีนี้ จะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญ " ชองกล่าว
เร่งร่างแถลงการณ์ผู้นำประณามภาษีฯ :
ผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ประชุมกันที่เมืองริโอเดอจาเนโร ในวันที่ 6 ก.ค. นี้ คาดว่าจะประณามนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และพยายามเป็นสะพานเชื่อมความขัดแย้ง ท่ามกลางวิกฤติในตะวันออกกลาง
แหล่งข่าวใกล้ชิดกลุ่มบริกส์ ซึ่งประชากรของกลุ่มประเทศสมาชิกรวมกันแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และมีผลผลิตทางเศรษฐกิจราว 40% ของโลก เผยว่า ที่ประชุมบริกส์เตรียมที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และทรัมป์ได้ขู่พันธมิตรและกดดันคู่แข่งด้วยภาษีนำเข้าเหมือนเป็นการลงโทษอย่างหนัก
ล่าสุดทรัมป์ได้มีหนังสือแจ้งให้คู่ค้าทราบอัตราภาษีใหม่ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งก็คือวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
นักการทูตจากประเทศกำลังพัฒนา 11 ประเทศ รวมถึงบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กำลังเร่งร่างแถลงการณ์ประณาม กรณีการสร้างสถานการณ์ไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เชื่อว่าสุดท้ายในคำประกาศของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะไม่กล่าวถึงสหรัฐ หรือประธานาธิบดีโดยตรง
แต่คาดว่า เอกสารแถลงการณ์ผู้นำบริกส์จะเป็นการโจมตีทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่วอชิงตัน
ศาสตราจารย์พิเศษมาร์ตา เฟอร์นานเดซ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายกลุ่มบริกส์แห่งมหาวิทยาลัยปอนติฟิคัลคาธอลิก ในริโอเดอจาเนโร คาดหวังว่า การประชุมสุดยอดบริกส์ครั้งนี้จะมีขึ้นด้วยความระมัดระวัง เพราะจะเป็นเรื่องยากที่จะเอ่ยถึงชื่อสหรัฐ โดยระบุชื่อในคำประกาศสุดท้าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจีน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ที่สูงมาก
“ดูเหมือนว่า นี่จะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จะก่อความขัดแย้งมากขึ้น ระหว่างสองประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก”ศ.เฟอร์นานเดซกล่าว
กลุ่มประเทศบริกส์ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อสองทศวรรษก่อนในฐานะเวทีสำหรับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้ถูกมองว่า เป็นเสมือนกลุ่มความร่วมมือที่ถ่วงดุล ซึ่งขับเคลื่อนโดยจีนต่ออำนาจของชาติตะวันตก
ไร้เงาสี พลังการเมืองถดถอย :
แต่พลังทางการเมืองของการประชุมสุดยอดบริกส์ครั้งนี้ จะหมดลง เนื่องจากสีจิ้นผิงของจีนไม่เข้าร่วมการประชุมประจำปีเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะเข้าร่วมแทน
นายไรอัน ฮัสส์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายจีน ประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในสถาบันบรูคกิ้งส์ เชื่อ “จะมีการคาดเดาเกี่ยวกับเหตุผลที่สี จิ้นผิงไม่อยู่ในที่ประชุมครั้งนี้”
บ้างเชื่อว่า สี จิ้นผิง เพิ่งให้การต้อนรับนายลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล เยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
เช็กแถว ผู้นำสูงสุดบริกส์ ไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอด :
ผู้นำจีนจะไม่ใช่คนเดียวที่ไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ซึ่งโดนจับจ้องในฐานก่ออาชญากรรมสงคราม เลือกจะไม่เข้าร่วมด้วยเช่นกัน แต่จะกล่าวคำปราศรัยผ่านลิงค์วิดีโอ ตามรายงานของเครมลิน
อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไม่ปรากฏตัว จะมีผลต่อประธานาธิบดีหลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยก่อนนี้ จีนเองต้องการให้บราซิลมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก
ปีนี้ ก่อนสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2568
บราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 การประชุมสุดยอดบริกส์ และการเจรจาระดับนานาชาติว่าด้วยสภาพอากาศโลกครั้งที่ 30 ก่อนที่บราซิลจะเข้าสู่ช่วงเวลาจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ส่อเค้าการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในปี 2569 ซึ่งคาดว่าลูลา จะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
ท่าทีหนึ่งเดียว สถานการณ์ ตะวันออกกลาง :
ด้านประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเกียน ของอิหร่าน ซึ่งประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกับอิสราเอลที่ดำเนินมานาน 12 วัน ก็ไม่เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน
แหล่งข่าววงในเผยว่า ประเทศต่างๆ ในกลุ่มบริกส์ยังคงมีความเห็นไม่ตรงกันว่า จะมีท่าทีต่อสงครามในฉนวนกาซาและระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างไร
เจ้าหน้าที่ของอิหร่านกำลังผลักดันให้มีจุดยืนร่วมกันที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การอ้างถึงความจำเป็นในการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ และการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติเท่านั้น
สมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มบริกส์ ได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่อมาแอฟริกาใต้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก และล่าสุดมีซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เอธิโอเปีย และอินโดนีเซีย ร่วมด้วย
นักวิเคราะห์กล่าวว่า กลุ่มประเทศดังกล่าวได้เพิ่มศักยภาพกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ และยังเปิดแนวร่วมใหม่ๆ โดยบราซิลหวังว่า ประเทศต่างๆ จะสามารถแสดงจุดยืนร่วมกันในการประชุมสุดยอด ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุด
“ตลอดประวัติศาสตร์ ประเทศในกลุ่มบริกส์สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกันในประเด็นสำคัญระดับนานาชาติได้ และไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในครั้งนี้ในเตประเด็นตะวันออกกลาง” นายเมาโร วิเอรา รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 กรกฏาคม 2568