"พิชัย" เผยข้อเสนอใหม่ เปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐมากขึ้น หวังลดภาษี 36 %
"พิชัย" เผยข้อเสนอใหม่ เปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐมากขึ้น ตั้งเป้าลดเกินดุล 70 % ใน 5 ปี ย้ำประโยชน์แบบ win-win
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก (Bloomberg) เมื่อ 6 กรกฎาคม 2025 ว่า ประเทศไทยเผยข้อเสนอใหม่เปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น เพิ่มการซื้อสินค้าพลังงานและเครื่องบินโบอิ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีส่งออกแบบต่างตอบแทนหรือตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อัตรา 36 % ที่ถูกกำหนดฝ่ายเดียวจากรัฐบาลทรัมป์
ข้อเสนอนี้มุ่งหวังที่จะลดดุลการค้าของไทยกับสหรัฐที่ไทยเกินดุลมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.48 ล้านล้านบาท) ลง 70% ภายใน 5 ปี และตั้งเป้าหมายบรรลุจุดสมดุลภายใน 7-8 ปี
การแก้ไขข้อเสนอของฝ่ายไทยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายพิชัยประชุมกับนายจามีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐและนายไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการเจรจาภาษีระดับรัฐมนตรีครั้งแรก
นายพิชัยกล่าวว่า เนื่องจากสินค้าของสหรัฐจำนวนมาก ซึ่งจะสามารถเข้าถึงตลาดของไทยได้มากขึ้นนั้น (ตามข้อเสนอใหม่) มีปริมาณไม่เพียงพอในประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตในประเทศ
“สิ่งที่เราเสนอให้พวกเขาเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
“สหรัฐสามารถค้าขายกับเราได้มากขึ้น และเราใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกระบวนการของเราและลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก” นายพิชัยกล่าว
ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สูง หากไม่สามารถลดภาษีศุลกากรกับตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่างสหรัฐได้ อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และและตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยอาจลดลงถึง 1 จุดเปอร์เซนต์
เวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านบรรลุข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้าส่งออก 20 % และเก็บภาษีสินค้าที่ถือเป็นสินค้าขนส่งผ่านแดนหรือยอมให้เป็นทางผ่าน 40 %
พิชัยกล่าวว่า ไทยกำลังผลักดันให้เก็บภาษีในอัตราที่ดีที่สุดที่ 10 % และเสริมว่าแม้จะอยู่ที่ 10 % ถึง 20 % ก็ยังถือว่ายอมรับได้
“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือ ไทยได้รับข้อตกลงที่แย่ที่สุดในหมู่เพื่อนบ้านในภูมิภาค” พิชัยกล่าว
รองนายกฯและรัฐมนตรีคลังกล่าวอีกว่า ไทยยังได้ปรับแผนการซื้อพลังงานจากสหรัฐโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว และเครื่องบินโบอิ้งอย่างแข็งขันมากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าได้อย่างมาก
บริษัทปิโตรเคมีของไทย รวมถึงบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ให้คำมั่นว่าจะนำเข้าเอธานอลจากสหรัฐมากขึ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสามารถซื้อ LNG จากโครงการก๊าซในแอลาสก้าได้ 2 ล้านตันต่อปีในกรอบระยะเวลา 20 ปี ขณะที่หลายบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของกำลังพิจารณาผลประโยชน์ในการร่วมพัฒนาโครงการนี้ การบินไทยระบุว่าสามารถซื้อเครื่องบินโบอิ้งได้มากถึง 80 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การส่งออกของประเทศไทยพุ่งขึ้นประมาณ 15% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าในช่วง 90 วันของการระงับการขึ้นภาษี
การลดอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐถือเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการค้าไม่ให้ตกต่ำลงอีก การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์จะช่วยบรรเทาความกังวลของนักลงทุนที่เกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากศาลสั่งพักงานแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากประพฤติมิชอบทางจริยธรรมในการจัดการข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 กรกฏาคม 2568