เส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น หรือเส้นหมี่หอยขมในน้ำมันพริก
เป็นอาหารประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองหลิ่วโจว และเป็นที่รู้จักทั่วประเทศจีนจนถึงปัจจุบัน จากธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆข้างทาง สู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึงหมื่นล้านหยวน เป็นต้นแบบที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และการขับเคลื่อนการพัฒนาสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำ
จุดเปลี่ยนสำคัญจากยุค “อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น” ไปสู่ยุค “อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น” อุตสาหกรรมเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นได้นำหุ่นยนต์ที่ทำงานจากระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในการผลิตเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น
ซึ่งด้วยเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพในการผลิตเสร็จอย่างรวดเร็วภายในเวลา 30 วินาที ซึ่งเร็วกว่าการใช้แรงงานมนุษย์มากถึง 2 เท่า ในปี 2567 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รายได้จากการจำหน่ายสูงถึง 75,960 ล้านหยวน มีการขยายตัวร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าแบรนด์หลัวซือเฝิ่น ติดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงติดอันดับที่ 27 ของประเทศจีน
นอกจากนี้ยังมีฐานการสาธิตการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเส้นหมี่มีมากถึง 20 แห่ง
ธุรกิจจากร้านเส้นหมี่ยังสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้สูงถึง 300,000 ตำแหน่งงาน และมีหน้าร้านอยู่ทั่วประเทศจีนมีอยู่ราว 49,000 แห่ง เส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นยังจำหน่ายไปยังหลายประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา อินโดนีเซีย อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อปี 2568 ยังมีการเปิดตลาดสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมรวมถึงการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย
การพัฒนานำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ระบบติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงในการควบคุมอุณหภูมิในการลวกเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นและเครื่องเคียง อาทิ หน่อไม้ดอง ที่เป็นดั่งหัวใจสำคัญของเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น
ระบบเซ็นเซอร์หลายตัวถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมปัจจัยในการผลิต เช่น อุณภูมิ ความชื้นได้อย่างแม่นยำ นอกจากจะทำให้มีรสชาติที่ดีเทียบเท่ากับแรงงานคนแล้วยังมีคุณภาพที่คงที่มากกว่าอีกด้วย ตัวหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถเสิร์ฟเส้นหมี่ได้สูงสุด 1,500 ชาม
เส้นทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นแบ่งด้วยกันเป็น 3 ระยะ
ระยะสั้น
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในกระบวนการควบคุมตรวจสอบคุณภาพและการทำการตลาด
ระยะกลาง
พัฒนาภาคส่วนการผลิตเพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักรพยากรณ์ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการคาดการณ์สถานะของเครื่องจักร วางแผนการผลิตและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา
ระยะยาว
การสร้างโรงงานแบบจำลองสเหมือนจริง(digital twin factory) เพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) เพื่อคงคุณภาพตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการบันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงหอยขมของเกษตรกรท้องถิ่น 2,000 ครัวเรือนรวมถึงสหกรณ์ 15 ราย
จากการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอย่างอัจฉริยะของเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น เห็นได้ว่าสามารถนำมาใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีในธุรกิจด้านอาหาร ท้งยังช่วยลดปัญหาด้านแรงงานคนที่มีความผันผวน
รวมถึงการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเพื่อความคงที่ของรสชาติและคุณภาพของอาหารรวมถึงการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่เน้นการยกระดับประสิทธิภาพของสินค้าและการบริการด้านอาหารของไทยอย่างมีคุณภาพและยังคงความเป็นไทยแบบดั้งเดิม (ข้อมูล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 7 กรกฏาคม 2568