ไทยยื่นสหรัฐ "เพิ่มนำเข้า" หั่นภาษี 0% เร่งเป้าสมดุลการค้าใน 7-8 ปี
KEY POINTS
* ไทยยื่นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ เพื่อเร่งรัดการสร้างสมดุลทางการค้าให้เร็วขึ้นจากเดิม 10 ปี เป็นภายใน 7-8 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตอบโต้ 36%
* ข้อเสนอของไทยรวมถึง การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาทิ พลังงาน, เครื่องบิน และสินค้าเกษตร
* ไทยพร้อมเปิดตลาดการค้าและลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ให้เหลือ 0% โดยต้องไม่กระทบประเทศคู่ค้าอื่นที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย
* ภาคเอกชนแสดงความกังวลว่าการลดภาษีเป็น 0% โดยเฉพาะในสินค้าเกษตร อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศอย่างรุนแรง
ไทยกำลังพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีส่งออก 36% ที่สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้จากไทย โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2568 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปและไทยต้องยื่นข้อเสนอรอบที่ 2 เพิ่มให้สหรัฐเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568
การยื่นข้อเสนอในรอบที่ 1 มีเป้าหมายสร้างสมดุลการค้าไทย-สหรัฐภายใน 10 ปี (2568-2578) โดยปี 2567 ไทยได้ดุลการค้า 45,364 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งปี 2573 ไทยจะลดได้ดุลการค้าลง 50% และปี 2578 ไทย-สหรัฐ จะสร้างสมดุลการค้า ซึ่งไทยจะเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ อาทิ พลังงาน (น้ำมันดิบ, LNG, อีเทน), เครื่องบินและชิ้นส่วน, อาวุธยุทโธปกรณ์, ข้าวโพด ถั่วเหลืองและเนื้อวัว
ในขณะที่การเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า โดยไทยพิจารณาลดภาษีตามหลักการชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) 11,000 รายการ รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) และเข้มงวดถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อแก้ปัญหาประเทศที่ 3 สวมสินค้าไทย ส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐ
ทั้งนี้ ข้อเสนอของไทยในรอบที่ 1 ไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยจำเป็นต้องจัดทำข้อเสนอให้สหรัฐเพิ่มเติม โดยนายพิชัย ได้สรุปข้อเสนอร่วมกับทีมไทยแลนด์เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 ก่อนที่ะส่งข้อเสนอให้สหรัฐในคืนเดียวกัน
การยื่นข้อเสนอรอบที่ 2 ไทยขยับเป้าหมายสมดุลการค้าสหรัฐเร็วขึ้นจาก 10 ปี เหลือ 7-8 ปี โดยกำหนดให้ปี 2573 ไทยลดได้ดุลการค้าสหรัฐลง 70% และปี 2574-2575 ไทยและสหรัฐมีสมดุลการค้ากัน
ส่วนข้อเสนอเปิดตลาดการค้าได้ปรับเป็นการเปิดเสรีหรือภาษีนำเข้า 0% ให้สหรัฐในสินค้าจำนวนหนึ่ง แต่ต้องไม่ทำให้คู่ค้าไทยที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เสียเปรียบสหรัฐ รวมทั้งไทยจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและเครื่องบิน
การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายพิชัย ประชุมกับนายเจมิสันกรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และนายไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการเจรจาระดับรัฐมนตรีครั้งแรก
นายพิชัย กล่าวว่า มีสินค้าจำนวนเยอะพอสมควรที่จะให้อัตรา 0% แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมดเและจะดำเนินการโดยไม่ทำให้ประเทศผู้ค้าอื่น ๆ ที่ประเทศไทยมีข้อตกลงด้วยนั้นเสียเปรียบ ส่วนสินค้าเกษตรมีการพิจารณาว่า “ตัวไหนเรารับได้หรือรับไม่ได้”
"ข้อเสนอของไทยปรับปรุงเล็กน้อยจากข้อเสนอเดิม ซึ่งให้ความสำคัญ 2 เรื่อง คือ แนวทางการสร้างสมดุลทางการค้ากับสหรัฐเร็วขึ้น และการเปิดทางการค้าขายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน โดยการลดอุปสรรคทางการค้า คิดว่าสหรัฐมองข้อเสนอไทยเป็นข้อเสนอที่ดี แต่วันนี้คงตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายไทยจะได้อัตราภาษีที่เท่าไหร่ ต่ำกว่าเวียดนามหรือไม่”
ส่วนประเด็นไทยจะอยู่ในกลุ่มที่สหรัฐส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีที่จะต้องเสียเพิ่มหรืออยู่ในกลุ่มที่ได้เจรจาต่อ นายพิชัย กล่าวว่า “ต้องรอดูก่อนว่าเขาว่าอย่างไร อีก 2-3 วัน จะได้ความชัดเจน”
“พิชัย” รับได้หากโดนภาษี 10-20% :
นายพิชัย กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า แม้จะถูกเก็บภาษีระดับ 10-20% ถือว่ายอมรับได้ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ไทยได้รับข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อเสนอใหม่เป็นข้อเสนอที่ดีและจะได้รับความสนใจจากสหรัฐ โดยมีแนวทางสำคัญให้ดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐสมดุลเร็วขึ้น ซึ่งไทยเสนอแนวทางช่วยให้ดุลการค้าสมดุล นอกเหนือจากการลดภาษีนำเข้า การซื้อสินค้าจากคู่ค้ามากขึ้นและการเข้าไปลงทุน
“การลดภาษีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ยืนยันว่าดุลการค้าจะดีขึ้นเสมอไป เพราะหากลดภาษีแล้วไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากัน ดุลการค้าก็อาจยังคงเดิม ซึ่งข้อเสนอของไทยคือแนวทางที่จะทำให้ดุลการค้าระหว่างกันดีขึ้น และการแก้ไข NTBs อาจรวมถึงการที่สินค้าเข้าตลาดไม่ได้แม้ภาษีจะลดเหลือ 0% เพราะต้องขออนุญาตหรือมีข้อจำกัดอื่นในแต่ละสินค้า"
จัดหมื่นล้านเยียวยาผู้ถูกกระทบ :
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบคำถามประเด็นไทยจำเป็นต้องเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรเพื่อแลกการลดภาษีหรือไม่ว่า “ต้องยอมรับจากนี้จะไม่เหมือนเดิม”
ดังนั้น ต้องมองข้ามภาษีทรัมป์แล้วเตรียมแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้เตรียมแล้วผ่านกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากที่รัฐบาลกันเงินสำรองไว้ 10,000 ล้านบาท จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 115,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว
“ข้อตกลงอะไรก็ตามต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม.และรัฐสภา และต้องเป็นไปตามกฎหมายข้อตกลงระหว่างประเทศ”
หวังไทยไม่ลดภาษี 0% ทุกรายการ :
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยอมรับได้กับข้อเสนอของรัฐบาลที่ยื่นต่อสหรัฐรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 แต่การที่ไทยจะเปิดตลาดให้สหรัฐด้วยการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% คาดหวังว่ารัฐบาลจะไม่ลดภาษี 0% สินค้าทุกรายการ
ทั้งนี้ การเพิ่มสินค้านำเข้าจากสหรัฐทั้งพลังงานและสินค้าเกษตร ต้องไม่กระทบผู้ผลิตสินค้าเกษตรในประเทศ โดยต้องต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างสมดุลการค้า
"อยากให้ไทยถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำสุด อยากเห็นสหรัฐรับข้อเสนอไทย และขอให้อัตราภาษีเป็นธรรม ไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่น เพราะถ้าไทยถูกเก็บภาษีอัตรา 36% จะสร้างความเสียหายให้ไทยมาก
ห่วงภาษี 0% กระทบเกษตรกรไทย :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนกังวลวันที่ 9 ก.ค.2568 เส้นตายที่สหรัฐกำหนด ซึ่งข้อมูลจากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงตลาดจนล่าสุดขยายการบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้เป็นเดือน ส.ค.2568 ซึ่งทำให้กังวลว่าข้อเสนอไทยจะรับพิจารณาทันหรือไม่ รวมถึงจะถูกเก็บภาษีทันทีหรือไม่
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดขณะนี้ คือ ข้อเสนอจากเวียดนามที่สหรัฐอาจนำมาใช้เป็นต้นแบบ โดยเวียดนามไม่เก็บเสนออัตราภาษี 0% ทุกรายการให้กับสหรัฐ
ดังนั้น หากไทยต้องยอมรับเงื่อนไขนี้แม้จะไม่กระทบสินค้าอุปโภคบริโภคและ SMEs มากนัก เพราะสหรัฐย้ายฐานการผลิตไปภาคบริการและเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับภาคการเกษตรถือว่าคนละเรื่องกันเลย
“สิ่งที่ห่วงจาก 0% คือสินค้าภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันสินค้าเกษตรจากสหรัฐมีราคาถูกและผลิตได้จำนวนมาก หากไทยไม่เก็บภาษี สินค้าเหล่านี้จะเข้ามาถล่มเกษตรกรไทย เช่น ข้าวโพด ซึ่งจะกระทบเกษตรกรและภาคปศุสัตว์ที่มีผู้อยู่ในอุตสาหกรรมกว่า 20 ล้านราย"
รวมทั้งปกติภาคเกษตรกรและปศุสัตว์เป็นหมวดที่อ่อนแอและเปราะบางที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากมีสินค้าจากสหรัฐฯ เข้ามาโดยไม่เสียภาษี ก็ยังไม่รู้ว่าเกษตรกรไทยจะรับมือกับผลกระทบไหวหรือไม่
ไทยระทึกรอจดหมายจากสหรัฐ :
นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวในรายการ “State of the Union” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 ตามเวลาท้องถิ่นว่า จดหมายภาษีศุลกากรจะถูกส่งไปยังประเทศต่างๆ 100 ประเทศ ในวันที่ 7 ก.ค.2568 เนื่องจากการผ่อนปรนภาษีศุลกากร 90 วันของรัฐบาลทรัมป์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค.2568
“หากคุณไม่ดำเนินการใดๆ ในวันที่ 1 ส.ค.2568 จะกลับไปได้ภาษีศุลกากรระดับสูงของวันที่ 2 เม.ย.2568 ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะส่งจดหมายให้กับคู่ค้าบางราย บอกว่า ถ้าคุณไม่ทำตามนี้ วันที่ 1 ส.ค. คุณจะต้องกลับไปเจอภาษีในระดับวันที่ 2 เม.ย." นายเบสเซนต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเบสเซนต์ปฏิเสธว่า วันที่ 1 ส.ค.2568 ไม่ใช่การขยายเส้นตายภาษี แต่เป็นการให้เวลาคู่ค้าสำหรับการเจรจาอัตราภาษี
“เรากำลังบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าคุณอยากเร่งก็ลุยเลย แต่ถ้าคุณอยากกลับไปใช้อัตราเดิมก็แล้วแต่คุณ” นายเบสเซนต์กล่าว
ตรวจสถานะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ :
รัฐบาลกัมพูชา แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า กัมพูชาเห็นชอบกรอบข้อตกลงกับสหรัฐ ซึ่งจะเผยแพร่ต่อสาธารณชนเร็วๆ นี้ ด้วยคำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐอย่างใกล้ชิดต่อไป กัมพูชาซึ่งส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าไปยังสหรัฐ ถูกประกาศภาษีตอบโต้ในอัตรา 49% สูงที่สุดประเทศหนึ่ง
ด้านอินโดนีเซียสัปดาห์ก่อนส่งสัญญาณมั่นใจว่า ใกล้บรรลุข้อตกลงการค้า “แข็งแกร่ง” กับสหรัฐ ซึ่งจะขยายความร่วมมือด้านแร่ธาตุสำคัญ พลังงาน กลาโหม และการเข้าถึงตลาด ก่อนเส้นตาย 9 ก.ค.มาถึง
ส่วนไทยพยายามอย่างยิ่งไม่ให้ถูกเก็บภาษี 36% ด้วยการยื่นข้อเสนอให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสหรัฐเข้าถึงตลาดไทยมากขึ้น พร้อมๆ กับการซื้อพลังงานและเครื่องบินโบอิงเพิ่ม
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 กรกฏาคม 2568