พิษภาษีทรัมป์ 36% จับตาต่างชาติตั้งฐานผลิตในไทยไปสหรัฐฯลด - ชิงตลาดใหม่เดือด
ภาษีทรัมป์36%พ่นพิษ ฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจทรุด นิคมอุตสาหกรรมสะเทือน จับตาทุนต่างชาติตั้งฐานผลิตสินค้าในไทยลดลงหลังไตรมาสแรก ยอดยื่นขอบีโอไอท่วม กว่า500โครงการ มากกว่า3แสนล้าน ปี 67 จีนได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กว่า 174,440 ล้านบาทกว่า 743 โครงการมากที่สุดอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ที่ลงทุนรวม 224,362 ล้านบาท
การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาส่งจดหมายระบุว่าประเทศไทยจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศไทยหากส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกาที่อัตรา 36% ซึ่งเป็นอัตราภาษีล่าสุดที่ประเทศไทยต้องเผชิญ และเป็นอัตราเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยประกาศไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่ารัฐบาลประเทศไทยไม่สามารถเจรจาหรือต่อรองใดๆ ได้เลยในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย มองว่า การที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีสูงระดับนี้สินค้าส่งออกของประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาอาจจะต้องหาตลาดรองรับใหม่
กระจายความเสี่ยง และเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มการค้าเดียวกัน ภาคการค้าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาของประเทศไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ และคงส่งผลต่อภาคธุรกิจอื่นๆ และภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยที่หากส่งออกได้ลดลงก็มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย
ย้อนไปดูสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเห็นได้ชัดเจนว่านักลงทนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ สิ้นปีพ.ศ.2567 นักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนและได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมแล้วเป็นเงินลงทุนกว่า 174,440 ล้านบาทจากจำนวนโครงการกว่า 743 โครงการมากที่สุดอันดับที่ 2 รองจากนักลงทุนจากสิงคโปร์ที่ลงทุนรวม 224,362 ล้านบาท
โดยนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบชัดเจนช่วงปีพ.ศ.2566 เป็นต้นมา ซึ่งการเข้ามาของนักลงทุนจีนก่อนหน้านี้วัตถุประสงค์อาจจะไม่ใช่เพื่อการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก และนักลงทุนจากประเทศจีนไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด แต่ไปลงทุนในหลายประเทศในอาเซียนด้วย เพราะต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ช่วง 3 เดือนแรกของปีพ.ศ.2568 ถ้าพิจารณาเฉพาะจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน นักลงทุนจากประเทศจีนมีจำนวนโครงการมากที่สุด และมากกว่านักลงทุนจากประเทศอื่นๆ แบบชัดเจน แม้ว่าเรื่องของเงินลงทุนอาจจะไม่ใช่อันดับที่ 1 เพราะนักลงทุนาจากจีนมีวงเงินลงทุนอยู่อันดับที่ 3 ด้วยจำนวนรวม 46,697 ล้านบาท อันดับที่ 1 เป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม เป็นอีก 1 ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเพราะก่อนหน้านี้นักลงทุนจากหลายประเทศอาจจะมองประเทศไทยเป็น 1 ในเป้าหมายการลงทุนเพื่อส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกา ถ้าเจออัตราภาษีขนาดนี้ การไปลงทุนในเวียดนามหรือบางประเทศในอาเซียนดูน่าสนใจกว่าทันที
การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติอาจจะลดลง เพราะถ้าอัตราภาษีขนาดนี้ไปเวียดนามหรือที่อื่นๆ ที่อัตราภาษีต่ำกว่า แล้วยังมีสิทธิประโยชน์จากประเทศนั้นๆ เพิ่มเติมอีก การลงทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเยอะรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อเลี่ยงการส่งออกสินค้าโดยตรงจากประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาคงลดลง และหลายๆ บริษัทหรือกลุ่มนักลงทุนอาจจะต้องพิจารณาปรับแผนหรือรูปแบบการลงทุนใหม่หลังจากนี้
ในระยะยาวประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือจัดการเรื่องนี้ได้ก็ต้องทำใจเรื่องการลดลงของการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ก็ยังคงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเช่นเดิม เพียงแต่กลุ่มที่ตั้งใจตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาคงลดลง
นิคมอุตสาหกรรมอาจจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยตรง รวมไปถึงอาคารคลังสินค้า โรงงานสำเร็จรูปที่อาจจะต้องรอดูผลกระทบในระยะยาวมากกว่า แต่คลังสินค้าในประเทศไทยเน้นเรื่องการกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้มากกว่าจริงๆ แล้วนักลงทุนที่เข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่มองเรื่องการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน และส่วนอื่นๆ ของโลกไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก จึงคาดว่าผลกระทบอาจจะไม่มากนัก
"หากประเทศไทยเจออัตราภาษีในการส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกาขนาดนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะถ้าหาตลาดทดแทนหรือระบายสินค้าไม่ได้มากพอ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ถ้าประเทศไทยยอมเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมแบบที่บางประเทศยอมทั้งภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางอย่างที่ประเทศตนเองก็ผลิตได้ เป็นต้น แต่ ณ ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับเรื่องอัตราภาษี 36% ต่อไป"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2568