ข้อเสนอใหม่-BRICs-ชิป-NTBs ชี้ชะตา ไทยเสี่ยงสหรัฐคงภาษีตอบโต้ 36%
ไทยลุ้นหนัก ปิดดีลรอบใหม่ต้องได้ภาษีต่ำกว่า 36% ผู้เชี่ยวชาญชี้ 4 ปัจจัยกำหนดชะตาไทย ทั้งข้อเสนอใหม่ที่โดนใจ "สหรัฐต้องได้มากกว่า" รวมถึงต้องเคลียร์บทบาทไทยในกลุ่ม BRICs สงครามชิป AI ข้อกล่าวหาใช้ NTBs กีดกันสหรัฐ
จากที่ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย แจ้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ในอัตรา 36% (Reciprocal Tariff) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป โดยระบุว่าหากไทยยกเลิกกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs) สหรัฐอาจที่จะปรับลดอัตราภาษีลงจากเดิม
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังตั้งความหวังข้อเสนอของไทยที่ยื่นเสนอเข้าไปใหม่ให้กับสหรัฐ จะสร้างแรงจูงใจพอให้สหรัฐปรับลดอัตราภาษีลงให้ไทย ก่อนเส้นตายภาษีที่สหรัฐประกาศจะมีผลบังคับใช้
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวมองว่าโอกาสที่สหรัฐจะลดภาษีให้ไทยลงต่ำกว่า 36% ณ เวลานี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากข้อเสนอและการเจรจาของไทยยังต้องไปแข่งขันกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐอีกนับร้อยประเทศ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และต้องเร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เช่นกัน
เวลานี้แต่ละประเทศต้องทำงานแข่งกับเวลา เปรียบเสมือนการวิ่ง 100 เมตร และแต่ละประเทศต่างก็ยื่นข้อเสนอให้กับสหรัฐแบบ “เทหมดหน้าตัก” หรือแบบจัด “ชุดใหญ่ไฟกระพริบ” เพื่อให้ได้ข้อตกลงหรือดีลการค้าที่ดีที่สุด ทำให้สหรัฐอาจไม่สนใจไทยหากข้อเสนอไม่จูงใจพอ และในทางปฏิบัติที่อาจไม่สามารถทำได้จริง
ขณะเดียวกันมีอีกหลายประเด็น ที่อาจส่งผลต่อการเจรจาไทย-สหรัฐในครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนเส้นตาย โดยมีประเด็นที่ไทยต้องเคลียร์ หรือทำความเข้าใจกับสหรัฐเพิ่มขึ้นได้แก่
1)การที่ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่ม BRICs ซึ่งแม้ไทยจะยังไม่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการก็ตาม โดยล่าสุดสหรัฐประกาศจะเก็บภาษีกับกลุ่ม BRICs เพิ่มอีก 10% จากอัตราภาษีตอบโต้เดิมที่สหรัฐเรียกเก็บ ซึ่งไทยคงต้องชี้แจงกับสหรัฐว่าสถานะของไทยในกลุ่ม BRICs เป็นอย่างไร เข้าไปเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน
2)ไทยเข้าไปอยู่ในสงครามชิปปัญญาประดิษฐ์(ชิป AI) ของสหรัฐ-จีน โดย โดยมีบริษัทไทยและมาเลเซีย นำเข้าชิปรุ่นที่ดีที่สุด และประมวลผลได้เร็วที่สุดของสหรัฐ (ของ Nvidia) ส่งผ่านไปให้กับจีน(ตามรายงานของสหรัฐ) ทำให้สหรัฐเพ่งเล็งและอาจใช้มาตรการด้านภาษี หรือมาตรการด้านอื่นเพิ่มเติมกับไทย
3)มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่สหรัฐระบุว่า ไทยมีการกีดกันสินค้าเกษตรจากสหรัฐโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เป็นความจริง โดยระบุสินค้าจากสหรัฐมีสารที่เป็นอันตราย บริโภคไม่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐอาจจะไม่ลดภาษีให้ไทย
“มีหลายประเด็นข้างต้น ที่เขาไม่พอใจเรา และเราต้องไปเคลียร์กับทางสหรัฐ หากเคลียร์ไม่สำเร็จเราอาจโดนภาษีเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นการเจรจาของไทยกับสหรัฐเขาจะยอมลดภาษีให้ไทยลงจาก 36% หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับข้อแรกคือ เสนอใหม่ของไทยว่าจะโดนใจหรือเป็นที่พอใจของเขาหรือไม่ รวมถึงปัญหาที่เราต้องเคลียร์กับสหรัฐในอีก 3 เรื่องข้างต้น”
ทั้งนี้การตั้งต้นการเจรจาของไทยที่ผ่านมาเล็งเป้าหมายแบบ win win แต่สหรัฐไม่ win win กับเรา แต่เขา win คนเดียว เพราะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า เห็นได้จากข้อสรุปที่สหรัฐเจรจาและบรรลุข้อตกลงกับอังกฤษ เวียดนาม หรือแม้กระทั่งจีน ที่คงอัตราภาษีสินค้าจีนไว้ที่ 30% ณ เวลานี้ เขาก็ win คนเดียว”
สำหรับอัตราภาษีที่ไทยได้รับ 36% ในครั้งนี้ ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามที่ได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐเพียง 20% ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐได้ลดลง ขณะที่สินค้าจากเวียดนามจะส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เพราะจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าจากทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และลาว ที่ส่งออกไปสหรัฐ ที่ได้รับอัตราภาษีสูงกว่าสินค้าจากเวียดนาม
ขณะข้อมูลสินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐ ในปี 2567 ล่าสุด มีมูลค่ากว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วนประมาณ 80% โดยสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ไทยส่งออก ไปสหรัฐ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ และสัดส่วนอีก 20% เป็นสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งสินค้าสำคัญในกลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐที่เก็บในอัตราสูงจากไทย
“ในปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐมูลค่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นสินค้าอุตสาหกรรม และอีก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป และในจำนวนนี้เป็นสินค้าจากผู้ประกอบการรายใหญ่สัดส่วนประมาณ 70% และอีก 30% เป็นสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อย“
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ยังให้ความเห็นอีกว่า จากอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยเจอ 36% ขณะที่เวียดนามได้ภาษีเพียง 20% หากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีลงจาก 36% ได้ ยังจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ(FDI)
รวมถึงการลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศไทย ในช่วงนับจากนี้จะปรับตัวลดลง เพราะอัตราภาษีที่ไทยได้รับจะทำให้การลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปสหรัฐ จะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านภาษี เมื่อเทียบกับการตั้งฐานการผลิตในเวียดนามที่ได้รับอัตราภาษีต่ำกว่าไทย
ขณะที่อัตราภาษีที่ประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนที่เป็นคู่แข่งของไทย ก็ได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐต่ำกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียได้รับอัตราภาษี 25% อินโดนีเซีย 32% ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในเวียดนาม มาเลเซีย และในอินโดนีเซียมากขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2568