เปิดทักษะงานรุ่ง-ร่วงแห่งอนาคต "ดิจิทัล-โลกร้อน" เด่นสวนเลิกจ้างเซ่นพิษศก.
"กอดงานไว้แน่นๆ" คือคำเตือนที่ได้ยินอย่างหนาหูในช่วงเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังอยู่ในโหมดขาลงอย่างหนัก สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) เปิดเผย รายงาน The Future of Jobs Report 2025 ว่า
ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีการสร้างงาน 170 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีตำแหน่งงานว่างลง 92 ล้านตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานสัดส่วน22% จากงานในระบบ 1.2 พันล้านตำแหน่ง หรือเท่ากับว่าจะมีการจ้างงานเพิ่ม สุทธิ 7% หรือ 78 ล้านตำแหน่ง
ฟังดูเหมือนเป็นข่าวดีีที่ตลาดแรงงานจะมีแรงขับเคลื่อนการจ้างงานมากขึ้น แต่ในรายงานบอกไว้ว่า “ทักษะการทำงาน” บางอย่างเท่านั้นที่ได้ไปต่อ ขณะเดียวกัน “ทักษะการทำงาน”บางอย่างก็จะไม่ได้ไปต่อ
รายงานนี้เป็นชุดข้อมูลเฉพาะที่ได้มาจากการสำรวจนายจ้างทั่วโลกอย่างครอบคลุม รายงานประจำปีนี้รวบรวมมุมมองของนายจ้างกว่า
1,000 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานกว่า 14 ล้านคนจากกลุ่มอุตสาหกรรม 22 กลุ่มและ 55 เศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นและลดลง สะท้อนจากการสำรวจอนาคตของตำแหน่งงานต่างๆจากนายจ้างเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่ภายในองค์กรของตนในอีก 5 ปีข้างหน้า
“ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าแนวโน้มหลักและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตและการลดลงในตำแหน่งงานในองค์กรของตน”
จากผลสำรวจผู้บริหารระดับสูง ชี้ว่า ตำแหน่งงานที่เติบโตเร็วที่สุดภายในปี 2030 ในแง่ของเปอร์เซ็นต์ มักจะขับเคลื่อนโดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น ความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์ ( AI) และหุ่นยนต์ และการเข้าถึงดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น
โดยตำแหน่งงานที่มีการเติบโตเร็วที่สุด ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิศวกร FinTech ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร และนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ พบว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าด้วยการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ตำแหน่งนักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล อยู่ในตำแหน่งงานที่มีแนวโน้มเติบโตในลำดับต้นๆ หรือ 15 อันดับแรก
ในส่วนปัจจัยสำคัญอีกด้านที่จะขับเคลื่อนโครงสร้างการจ้างงานในอนาคต ได้แก่ งานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไร้คนขับและรถยนต์ไฟฟ้า วิศวกรสิ่งแวดล้อม และวิศวกรพลังงานหมุนเวียน ก็อยู่ในอันดับ 15 อันดับแรกของบทบาทที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเช่นกัน
“การเติบโตของบทบาทเหล่านี้เกิดจากความพยายามและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การนำเทคโนโลยีการผลิต การจัดเก็บ และการจ่ายพลังงานมาใช้มากขึ้นควบคู่ไปกับแนวโน้มด้านเทคโนโลยีอื่นๆ”
ผลสำรวจระบุว่า ในกลุ่มเศรษฐกิจหลักได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่ง คนงานในฟาร์มอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายชื่อบทบาทงานที่มีการเติบโตสูงสุดในอีก 5 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะมีงานเพิ่มขึ้น 35 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว รวมถึงความพยายามและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นแรงผลักดันเบื้องหลังการเติบโตของงานนี้
อย่างไรก็ตาม อีกด้านของการจ้างงานที่คาดว่าจะลดการจ้างลงอย่างรวดเร็วที่สุดได้แก่ ตำแหน่งเสมียนต่างๆ เช่น พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว ร่วมกับผู้ช่วยฝ่ายบริหารและเลขานุการฝ่ายบริหาร พนักงานพิมพ์ และนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลข้อมูล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ขณะเดียวกัน ปัจจัยตัวแรงงานเอง ได้แก่ ประชากรวัยทำงานที่อายุมากขึ้นและลดลง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงก็มีส่วนทำให้ตำแหน่งเสมียนลดลงเช่นกัน
รายงานยังระบุถึงการจ้างงานในแง่ที่พึ่งพาทักษะที่ไม่สูงมาก แต่มีการจ้างงานในแง่จำนวนที่มากเพียงพอต่อโครงสร้างการจ้างงานโดยรวม ซึ่งพบว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนการจ้างงานราว 200 ล้านคนทั่วโลก ได้แก่ คนขับรถส่งของ คนงานก่อสร้าง พนักงานขาย และพนักงานแปรรูปอาหาร ถือเป็นประเภทงานที่มีการเติบโตสูงสุดในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตในเกือบทุกอาชีพ
ขณะเดียวกันกลุ่มงานด้านสังคม ก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ งานดูแลผู้ป่วย เช่น พยาบาลวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์และที่ปรึกษา และผู้ช่วยดูแลส่วนบุคคล ที่ได้รับแรงผลักดันจากแนวโน้มประชากร โดยเฉพาะประชากรสูงอายุ และงานด้านสังคมว่าด้วยการศึกษา เช่น ครูในมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษา และครูในมัธยมศึกษา ก็คาดว่าจะเป็นผู้สร้างงานกลุ่มใหญ่ที่สุดในแง่ตัวเลขในอีก 5 ปีข้างหน้าทั่วโลก
รายงาน ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงเป็นแนวโน้มใหญ่เพียงประการเดียวที่ผู้ตอบแบบสำรวจ Future of Jobs คาดว่าจะส่งผลให้เลิกจ้างงานถึง 3 ล้านงาน ซึ่งมากกว่าการสร้างงานใหม่ราว 2 ล้านงาน
“ปัจจัยค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาสินค้าต่างๆที่สูงขึ้นคาดว่าจะผลักดันให้มีการสร้างงาน 4 ล้านงานและเลิกจ้าง 3 ล้านงานภายในปี 2030 ”
แนวโน้มนี้จะกระทบต่องาน ผู้ดูแลอาคาร พนักงานทำความสะอาด และแม่บ้านจะลดลง ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงยังเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ตำแหน่งงานในแผนกบริการธุรกิจและการบริหาร ผู้จัดการทั่วไปและฝ่ายปฏิบัติการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาดลดลงด้วย
เช่นเดียวกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจและตัวแทนขาย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจจะหันไปพัฒนาประสิทธิภาพ ผ่านการจ้างงานกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีเช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์
งานคือแหล่งรายได้ในมุมของคนทำงานแต่อีกด้านงานคือกลไกสำคัญของการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งสิ่งที่เพิ่มขึ้น และ ลดลง งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ทักษะงานที่ไม่จำเป็นก็ต้องถูกแทนที่ด้วยทักษะที่จำเป็น แต่คนทำงานก็ยังต้องเป็นคนทำงานได้ต่อไป หากรู้จักที่จะเปลี่ยนทักษะที่เหมาะสม
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 กรกฏาคม 2568