"เมื่อโลกไม่สวย" ก็จงมองโลกตามความเป็นจริง โลกร้อนเกินเป้าวิกฤติคุกคาม
By พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
KEY POINTS
* อุณหภูมิโลกเคยสูงเกินเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสไปแล้วชั่วคราว ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องยอมรับและรับมือ
* มีการคาดการณ์อนาคตสภาพภูมิอากาศ (SSP) ที่ชี้ว่าโลกอาจพัฒนาไปในทิศทางที่ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง (Middle of the Road) ซึ่งไม่ใช่ภาพในอุดมคติ
* ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารและภาคเกษตรกรรมที่ต้องเผชิญความท้าทาย
* นอกจากการลดคาร์บอน สิ่งสำคัญคือการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน (Adaptation) และวางแผนเชิงรุกโดยมองโลกตามความเป็นจริง
สวัสดีครับ ทราบมั้ยครับว่าจริงๆ อุณหภูมิโลกเคยทะลุเพดานของความตกลงปารีสที่ไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา จากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมไปแล้ว

แต่ไม่ต้องแปลกใจไปนะครับ เพราะผมหมายถึงสูงขึ้นเพียงชั่วคราวไม่กี่เดือน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ได้ยืนยันว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยทั้งปีได้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศา จากระดับยุคก่อนอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว สาเหตุหนึ่งคือปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2566 ถึงกลางปี 2567 นั่นเอง แล้วเรายังจะต้องมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายที่ทั้งโลกต้องการรั้งอุณหภูมิไว้ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศา อีกหรือไม่
คำตอบคือใช่ครับ เรายังจำเป็นต้องดำเนินสู่เป้าหมายนั้นต่อไป เพราะที่ผ่านมาคืออุณหภูมิพื้นผิวโลกเกินที่กำหนดไว้ไม่มากและเป็นระยะเวลาไม่กี่เดือน ในสภาวะคาบลูกคาบดอกเช่นนี้เราจึงยังมีโอกาสดึงอุณหภูมิให้ต่ำลงได้ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิที่สูงขึ้นถาวรก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่กู่ไม่กลับ ไม่ว่าจะเป็นการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) หรือการฟอกขาวของแนวปะการังเขตร้อนแบบถาวร
ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศอย่างคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้
คาดการณ์แนวโน้มว่าโลกเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคตในแง่ของสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งสมมุติฐานที่เป็นไปได้ไว้ 5 รูปแบบหรือฉากทัศน์ จากปัจจุบันจนถึงปี ค.ศ. 2100 หรือที่เรียกเท่ๆ ว่า Shared Socia-economic Pathways (SSP) ตั้งแต่ฉากทัศน์ที่ 1 ที่เป็นอุดมคติ คือทั่วโลกประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากมาก ไปจนถึงฉากทัศน์ที่ 5 ที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงยิ่งขึ้นตามอัตราการผลิตและบริโภคที่มีแต่สูงขึ้น
ที่น่าสนใจคือฉากทัศน์ที่ 2 คืออาการทำได้ครึ่งๆ กลางๆ (Middle of the Road) ซึ่งดูไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งและมีโอกาสเป็นไปได้ นั่นคือแม้โลกเริ่มมีการพัฒนาสู่ความยั่งยืนแต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำไม่ได้
อาทิ มีการตัดไม้ทำลายป่าน้อยลง แต่สิ่งนี้ส่งผลให้เราใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ได้น้อยลงเช่นกัน
ในขณะเดียวกันเรายังขาดเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เร่งปริมาณผลิตผลได้มากขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่จำนวนมาก อาทิ การเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) ซึ่งจุดนี้จะต่างจากฉากทัศน์แรกที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง สามารถรักษาความมั่นคงทางอาหารด้วยความก้าวหน้าทางนวัตกรรมโดยไม่ต้องสละผืนป่าไปมากกว่าเดิม
เมื่อเรานำการคาดการณ์ในระดับกลางๆ อย่างนี้มาเป็นตัวตั้ง ก็อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญขึ้นแน่ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ย่อมต้องเผชิญความท้าทายถ้าฤดูกาลผิดเพี้ยนไปจากเดิม เนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่เกษตรกรรมจะทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลให้เพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งกระทบความมั่นคงทางอาหารเป็นแน่แท้
หนึ่งในตัวอย่างล่าสุดของสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วคือในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งประเทศมาลาวีและแซมเบียในแอฟริกาประสบภัยแล้งจัดรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ถึงขั้นต้องประกาศเป็นภัยพิบัติระดับชาติเพราะเผชิญความเสี่ยงที่จะขาดแคลนทั้งอาหารและพลังงาน เนื่องจากมาลาวีเกิดปัญหาในการเพาะปลูกพืชหลักอย่างกล้วยและข้าวโพด ในขณะที่แซมเบียเป็นประเทศที่พึ่งพาไฟฟ้าพลังงานน้ำ
เมื่อเราพยายามมองอนาคตตามจริงแบบไม่โลกสวยเกินไป สิ่งที่เราจำต้อง “ทำตอนนี้” (Act Now) ไปพร้อมกับการลดคาร์บอนคือการปรับรูปแบบวิถีชีวิตต่อสภาพอากาศแปรปรวน (Adaptation) ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่คาดไว้ อีกทั้งบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ได้เริ่มใช้ SSP ในการช่วยวางแนวทางการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ในระยะยาวแล้ว ตัวอย่างเช่นนี้ถือเป็นการปรับตัวแบบเชิงรุกที่มองโลกตามความเป็นไปได้หลายรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการรอคอยแล้วคิดว่าเราอาจจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้แบบในอุดมคติครับ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 กรกฏาคม 2568