ทรัมป์ขยายเวลาเจรจาภาษี คู่ค้าใหญ่มีหวัง ธุรกิจกังวล
KEY POINTS
* ทรัมป์ขยายเวลาเจรจาภาษีถึง 1 ส.ค. คู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป มีความหวังเจรจาลดหย่อนภาษี
* การขยายเวลาถูกมองว่าเป็นผลจากความหงุดหงิดของทรัมป์ต่อการเจรจาที่ล่าช้า
* ประเทศคู่ค้าต่างเร่งเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการลดภาษีนำเข้ารถยนต์
* ภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเล็กได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบาย การวางแผนหยุดชะงัก เกิดความเสียหายทางธุรกิจ
การเลื่อนการนำใช้นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ทำให้คู่ค้ารายใหญ่อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรปมีความหวังขึ้นมาบ้างว่า ยังสามารถบรรลุข้อตกลงขอลดหย่อนภาษีได้ แต่ผู้ส่งออกรายเล็กสับสน บริษัทต่างๆ ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ตามที่ทรัมป์ทำจดหมายถึงหลายประเทศแจ้งให้ทราบถึงอัตราภาษี 25% ถึง 50% ที่ได้วางแผนปรับใช้ไว้ โดยทรัมป์ได้เรียกจดหมายเหล่านี้ว่าเป็นคำเตือนครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้า พร้อมเลื่อนกำหนดเส้นตายการเจรจาออกไปจากเดิมวันพุธ (9 ก.ค.) เป็นวันที่ 1 ส.ค. แทน
ต่อมาในวันอังคาร (8 ก.ค.) ทรัมป์ประกาศว่านี่เป็นวันที่ที่แน่นอนแล้วและ “จะไม่มีการต่ออายุใดๆ ทั้งสิ้น”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารคาดว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความหงุดหงิดของทรัมป์ที่มีต่อการเจรจาการค้า ซึ่งยาวนานและซับซ้อนกว่าความคาดหวังของเขาที่ว่าจะเจรจา “ข้อตกลง 90 ข้อได้ใน 90 วัน”
ทรัมป์ได้ประกาศเมื่อวันอังคารว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าทองแดง 50% และจะเริ่มจัดเก็บภาษีประเภทเซมิคอนดักเตอร์และผลิตภัณฑ์ยาตามที่ได้ขู่ไว้ว่าจะทำนานแล้วในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เขาชอบการจัดเก็บภาษีแบบง่ายๆ มากกว่าการเจรจาการค้าที่ใช้เวลานาน ซึ่งต้องกำหนดเส้นตาย และคู่ค้าบางประเทศขอให้สหรัฐโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง
นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น กล่าวในแง่บวกว่า รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การเจรจาหาขอเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของชาติญี่ปุ่นไปในขณะเดียวกัน
ปัจจุบันญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าทั่วไปของสหรัฐถึง 25% บวกกับภาษีรถยนต์แยกอีก 25% โดยญี่ปุ่นต้องการบรรเทาภาระภาษีรถยนต์นี้เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต่อต้านการเรียกร้องให้ซื้อข้าวจากสหรัฐเพิ่มอีกด้วย
ญี่ปุ่นเคยถูกมองว่าเป็นคู่ค้าโปรดที่เจรจาข้อตกลงได้ด้วยดี แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังจะมีการเลือกตั้งวุฒิสภาในวันที่ 20 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งการยอมข้อตกลงง่ายๆ หลายครั้งอาจทำให้พรรคประชาธิปไตยของรัฐบาลอิชิบะเสี่ยงพลาดชัยชนะเลือกตั้งได้
วิลเลียม ไรน์ช อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐและที่ปรึกษาการค้าอาวุโสที่ศูนย์การศึกษากลยุทธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่าประเทศเหล่านี้ “ไม่ยอมอ่อนข้อและไม่ยอมให้ในสิ่งที่ทรัมป์ต้องการ เขาจึงข่มขู่ต่อไป ด้วยการเพิ่มตัวเลขอัตราภาษีแล้วเลื่อนเส้นตายออกไป”
เกาหลีใต้ ที่ประธานาธิบดีคนใหม่อี แจ มย็องเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึงเดือน ได้ยืนยันว่าจะเร่งเจรจาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ ในขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า ประธานาธิบดีอี แจ มย็อง จะไม่ยอมทรัมป์ง่ายๆ หรือทำให้เกาหลีใต้เสียเปรียบญี่ปุ่น
สตีเฟน มิรัน ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว กล่าวกับฟ็อกซ์นิวส์เมื่อวันอังคารว่า มีโอกาสที่ข้อตกลงอื่นๆ จะเกิดขึ้นได้ก่อนสิ้นสัปดาห์นี้ ตราบใดที่ประเทศต่างๆ มีข้อเสนอที่ทรัมป์เห็นสมควรด้วย
ด้านอินเดียดูเหมือนว่าจะใกล้บรรลุข้อตกลงได้แล้ว แต่ประเทศเล็กอื่นๆ เช่น แอฟริกาใต้ ไทย และมาเลเซีย ยังคงไม่แน่นอน โดยประเทศเหล่านี้เผชิญกับภาษีนำเข้าอยู่ที่ 30% 36% และ 25% ตามลำดับ
ประธานาธิบดีซิริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้ได้คัดค้านอัตราภาษี 30% ของทรัมป์ และระบุว่าไม่สอดคล้องกับอัตราภาษีที่ปกติแอฟริกาได้ต้องเผชิญโดยเฉลี่ยที่เพียง 7.6% แต่ยังคงสั่งให้คณะรีบเจรจากับฝ่ายทรัมป์ ตามกรอบที่แอฟริกาใต้ยื่นไปเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม เวลาการเจรจาของรัฐบาลทรัมป์อาจหมดไปกับพันธมิตรที่ใหญ่กว่า เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งไม่ได้รับทั้งจดหมายเตือนและการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี 20% ที่ถูกตั้งไว้ ซึ่งเป็นสองเท่าของค่าพื้นฐานที่ 10%
แหล่งข่าวใกล้ชิดสหภาพยุโรปกล่าวกับรอยเตอร์สว่า การบรรลุข้อตกลงอาจเกี่ยวข้องกับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องบินและส่วนประกอบ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุว่าสหภาพยุโรปต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายส่งออกไปยังสหรัฐได้ในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ในปัจจุบัน
ข้อตกลงดังกล่าวจะคล้ายคลึงกับข้อตกลงยกเว้นให้กับรถยนต์ เหล็ก และเครื่องยนต์เครื่องบินกับสหราชอาณาจักร
หลังจากได้ประกาศภาษีนำเข้าต่อประเทศทั่วโลกทั่วโลกที่ 11%-50% ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ได้รีบลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 10% สำหรับประเทศส่วนใหญ่ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตร เพื่อเพิ่มเวลาเจรจาการลดภาษีนำเข้าและอุปสรรคการค้าจากต่างประเทศ
ไรอัน มาเจอรุส อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า การหยุดเจรจาเป็นเวลา 3 เดือนไม่ได้ก่อให้เกิดผลตามที่ทรัมป์ต้องการ และตอนนี้ทรัมป์กำลังพยายามหาทางใช้อิทธิพลในการเจรจาให้ได้มากที่สุดอยู่
มาเจอรุส ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในสำนักงานกฎหมาย King and Spalding ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า รัฐบาลทรัมป์จะ “ทดสอบแรงกดดันในหลายๆ ด้านและดูว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในการเจรจา”
มาเจอรุสเสริมว่า ตลาดที่มั่นคงและข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทำให้ทรัมป์มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวบ้าง แต่ตอนนี้แทบไม่เหลือเวลาแล้วและ “ยิ่งเจรจาเรื่องนี้ละเอียดเท่าไร การดำเนินการก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น”
การขยายกำหนดเวลาดังกล่าวไม่สามารถช่วยบรรเทาภาระให้กับบริษัทต่างๆ ที่พยายามจะตามนโนบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ให้ทันได้ ผู้บริหารระดับสูงหลายรายกล่าวว่า นโยบายภาษีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้การตัดสินใจต่างๆ หยุดชะงัก เนื่องจากบริษัทต่างๆ พยายามปรับห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างต้นทุนเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาที่เกิดจากภาษีนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 กรกฏาคม 2568