เมื่อจีนไม่ใช่คำตอบ! สงครามการค้ากำลังหนุนให้อินเดียใต้และเวียดนาม เป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก?
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ "อินเดียใต้" ในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของโลก หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ นานาประเทศอย่างดุเดือด ทำให้ผู้ผลิตทั่วโลกอย่าง Delta ซึ่งมีโรงงานทั้งหมด 19 แห่งทั่วเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไต้หวัน อีก 2 แห่งอยู่ในจีน และอีก 3 แห่งอยู่ในไทย
กำลังพิจารณาทางเลือกใหม่ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน สู่ฐานผลิตอินเดียใต้โดยเฉพาะ ‘รัฐทมิฬนาฑู’ และอาจทำให้รัฐแห่งนี้กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ของโลกในอนาคตอันใกล้
ข้อมูลจาก Morgan Stanley Research ชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจว่า อินเดียมีประชากรวัยแรงงานสูง (อายุ 15-64 ปี) ซึ่งมากถึง 961 ล้านคน สูงที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก ซึ่งใกล้เคียงกับจีนที่มี 984 ล้านคน จุดแข็งของอินเดียในขณะนี้คือค่าแรงภาคการผลิตที่ต่ำเพียงชั่วโมงละ 1.0 ดอลลาร์เทียบกับจีนที่ 5.6 ดอลลาร์
เบนจามิน หลิน ประธานบริษัท Delta อินเดีย กล่าวว่า ซัพพลายเชนในอินเดียมีต้นทุนที่คุ้มค่ากว่าโรงงานใน ‘ไทย’ ไปแล้ว แม้ว่าจะยังแข่งขันด้านราคากับโรงงานในจีนไม่ได้
จุดแข็งของอินเดียอีกด้านคือนโยบายการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นในอินเดียใต้มีมาตรการดึงดูดการลงทุนเต็มที่ โดยเฉพาะรัฐทมิฬนาฑู ซึ่ง ทีอาร์บี ราชา รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินเดีย ย้ำว่า
“ทุกสิ่งที่เราทำที่นี่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน” เช่น บริษัท Delta Electronics เองก็ได้รับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี และปลดล็อกอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและน้ำประปาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านถนนและการเข้าถึงท่าเรือเจนไน
บทวิเคราะห์ ระบุอีกว่า แต่เดิม ‘รัฐทมิฬนาฑู’ เป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แม้จะมีประชากรเพียง 6% ของประเทศเท่านั้น
แต่มีสัดส่วนของจำนวนโรงงานมากที่สุดในอินเดียที่ 15.7% และรัฐนี้เป็นฐานการผลิตและการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 40% มีการผลิตผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอินเดีย
ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐจึงกำลังผลักดันให้บริษัทต่างชาติหาทางเลือกใหม่ บวกกับภายหลังจาก 6 เดือน ที่ทรัมป์หวนคืนทำเนียบขาว แนวโน้มการค้าโลกไม่แน่นอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณะที่ผู้ผลิตกำลังถกเถียงกันว่าจะถอนตัวออกจากจีนหรือไม่ เพราะต้องแบกรับภาระภาษีศุลกากรที่สูงมากของสหรัฐฯ ส่งผลให้อินเดียก็มองหาโอกาสใหม่จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้น ด้วยแรงงานรุ่นใหม่และค่าจ้างที่ต่ำกว่าแรงงานจากแหล่งผลิตขนาดใหญ่อื่นๆ ในเอเชีย กำลังทำประโยชน์ให้กับอินเดีย
หลิน อธิบายอีกว่า “เราติดตามลูกค้า หากลูกค้าขอให้ย้ายออกจากจีน เราก็ย้ายออกจากจีน” บริษัทต่างๆ เช่น Apple ที่ประกาศแผนจัดหาสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ที่ผลิตในอินเดีย
‘รัฐทมิฬนาฑู’ เปิดทางนักลงทุนหน้าใหม่
สถานการณ์ขณะนี้ยังสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้รับจ้างผลิตในประเทศ ขณะที่โฮซูร์ เมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ก็กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิตแหล่งสำคัญ มีโรงงาน Ola Electric ที่เป็นโรงงานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Tata Electronics ที่กำลังสร้างโรงงานผลิต iPhone รวมถึงรถยนต์รุ่นเก่าแก่อย่าง Titan
รวมถึง โรลส์-รอยซ์ ที่ตัดสินใจสร้างโรงงานมูลค่า 850 ล้านรูปี เพื่อขยายการผลิตกังหันไอพ่นและชิ้นส่วนอากาศยานอื่นๆ สำหรับเครื่องบินพลเรือนและเครื่องบินป้องกันประเทศ โดยให้ เหตุผล ในการเลือกโฮซูร์ เพราะความสะดวกที่รัฐบาลทมิฬนาฑูเปิดทางให้
จนถึงขณะนี้ การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่รัฐทางตอนใต้ของประเทศ จนปัจจุบันกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อต้อนรับนักลงทุนหน้าใหม่ รวมถึงการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งอาจช่วยให้อินเดียหลุดพ้นจากชื่อเสียงในฐานะประเทศที่ทำธุรกิจได้ยาก
แม้จะมีความก้าวหน้า แต่อินเดียใต้ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ การพึ่งพาชิ้นส่วนและวัตถุดิบนำเข้าจากจีน
อย่างไรก็ตาม สำหรับอินเดียโดยรวมแล้ว การพัฒนาภาคการผลิตที่แข็งแกร่งนั้นยังเป็นเป้าหมายระยะยาว และเป็นเป้าหมายที่ผู้นำหลายคนยังทำไม่ได้ หลังในช่วงปีแรกๆ ได้รับเอกราชจากการปกครองของอังกฤษ อินเดียให้ความสำคัญกับการสร้างประเทศและเน้นการพึ่งพาตนเอง
โดยจะผลิตสินค้าให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจแบบปิด และมักถูกมองว่ามีการผลิตสินค้าคุณภาพต่ำ กระทั่งการปฏิรูปในช่วงทศวรรษ 1990 นำไปสู่การลดภาษีและภาษีศุลกากร ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจยังคงเอนเอียงไปทางภาคบริการอย่างมากกว่า เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและบริการทางการเงิน
ปัจจุบัน แคมเปญ ‘Make in India’ ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ซึ่งเปิดตัวในปี 2014 ตั้งเป้าว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของอินเดียหนึ่งในสี่ จะมาจากภาคการผลิตภายในปี 2025 แต่ในปีงบประมาณ 2024 ภาคส่วนนี้ยังคงมีสัดส่วนเพียง 17.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากทศวรรษก่อนหน้ามากนัก
รายงานข่าวระบุว่า นับตั้งแต่จีนเผชิญสถานการณ์โควิด ภาวะเศรษฐกิจภายในที่ซบเซาและสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ภาคการผลิตของจีนเองก็ได้รับผลกระทบ
ส่งผลให้บรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่า หากเอาแต่พึ่งจีนเพียงประเทศเดียวคงไม่ได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่ต้องกระจายความเสี่ยง เวียดนามกับอินเดียจึงมีบทบาทต่อภาคการผลิตโลกเพิ่มขึ้น
ที่มา the standard
วันที่ 10 กรกฏาคม 2568