เวียดนามส่ง "ทุเรียนแช่แข็ง" ลุยตลาดจีน ประเดิมด่านตงซิงที่แรก พร้อมโอกาสส่งออก "ทุเรียนสดและเนื้อทุเรียนแช่แข็ง" ของไทย
ในบรรดาผลไม้แช่แข็งที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างทุเรียนแช่แข็ง ที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Admisistration of Custum of the PR.C.) ได้ผ่อนคลายนโยบายการนำเข้าผลไม้แช่แข็ง โดย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่แข็งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก GACC ไม่ต้องผ่านมาตรการตรวจสอบและกักกันโรคอีกต่อไป” เป็นการสร้างโอกาสให้ผลแช่แข็งต่างประเทศเข้าสู่ตลาดจีนได้ง่ายขึ้น
ในปัจจุบันประเทศจีนมีการนำเข้า “ทุเรียนแช่แข็ง” จากหลายประเทศ อาทิ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และล่าสุด เวียดนาม โดยเมื่อเร็วๆนี้ เขตปกครองกว่างซีจ้วงได้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากเวียดนามผ่านด่านสากลทางบกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จีนกับเวียดนามได้ลงนามพิธีสารการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งเป็นการนำเข้าผ่าน “ด่านสากลทางบกตงชิง”
กว่างซีนิวส์ ระบุว่า ทุเรียนแช่แข็งล็อตดังกล่าวมาจากจังหวัดเลิ่มดง มีน้ำหนัก 22.24 ตัน เป็นทุเรียนปอกเปลือกแล้วนำไปแช่แข็งอย่างรวดเร็วที่อุณหภูมิ -18 องศา โดยใช้ไนโตรเจนเหลว สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการขนส่งทางไกลและการเก็บรักษาในระยะยาว ซึ่งด้วยแนวพรมแดนที่ยาวกว่า 1,020 กิโลเมตรระหว่างเขตกว่าซีจ้วงและประเทศเวียดนาม
ทำให้เป็นที่ตั้งของด่านทางบกสำคัญหลายแห่ง นอกจากด่านคุ้นหูอย่าง “ด่านโหย่วอี้กวาน” แล้ว สุดขอบชายแดนกว่างซีกับเวียดนามยังมีด่านสำคัญอีกแห่งคือ “ด่านตงชิง” ที่ตั้งอยู่ในเมืองระดับอำเภอตงชิง (Dongxing City) ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฝางเฉิงก่าง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองม๊องก่าย (Mong Cai) จังหวัดกว๋างนิญ (Quang Ninh) ของประเทสเวียดนาม มีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ
ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจากกรุงฮานอยราว 300 กิโลเมตร สำหรับ “ด่านตงซิง” แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
(1) ด่านสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 1 ปัจจุบันเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) และ
(2) ด่านสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 2 เป็นด่านศุลกากร (Customs) ที่สร้างขึ้นใหม่สำหรับบุคคลและบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกนอกประเทศ เป็นด่านที่มีความพร้อมด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ไม่น้อยไปกว่าด้านโหย่วอี้กวาน
นอกจากนี้ เมืองผิงเซียง (ที่ตั้งของด่านโหย่วอี้กวาน) และเมืองตงชิง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งโอกาสในการพัฒนาการค้า “เนื้อทุเรียนแช่แข็ง(ไทย)” ในรูปแบบการค้าชายแดนผ่านทางทะเลด้วย ซึ่งเป็นการฉีกกรอบคำนิยามของการค้าชายแดนแบบเดิมที่จะต้องเป็นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน
“ด่านตงชิง” จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เพื่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อย่างคล่องตัว ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทย โดยใช้ระยะเวลาในการขนส่งออกจากไทยไปเข้าที่ด่านตงชิงภายใน 2 วันเท่านั้น ซึ่งผู้ส่งออกสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากด่านตงชิงเป็นช่องทางการระบายสินค้าผลไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกระจุกตัวของรถบรรทุกบริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวาน

ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ผู้ส่งออกไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนทางทะเล โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรไทยอย่าง “ผลไม้และเนื้อผลไม้” ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ผลไม้ฟรีซดราย ผลไม้บรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ แยมผลไม้
รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของผลไม้ ทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมบริโภคและอาหารพร้อมปรุงอีกด้วย (ข้อมูล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 10 กรกฏาคม 2568