ทุนนอกชะงัก "ภาษีทรัมป์" ทุบไทยหล่นเบอร์ 4 อาเซียนประเทศน่าลงทุน เสี่ยงตกงานนับล้าน
ภาษีทรัมป์ทุบขีดแข่งขันไทยส่อทรุดหนัก ส่งออกสหรัฐ 2 ล้านล้านสะเทือน จับตาลามต่างชาติลงทุนไทยวูบ หลังหล่นเบอร์ 4 อาเซียนประเทศน่าลงทุน รองจากเวียดนาม มาเลย์ อินโดฯ เป้าบีโอไอดูด FDI 8 แสนล้านส่อวืด
สหรัฐอเมริกาแจ้งอัตราภาษีตอบโต้ไทยล่าสุดที่ 36% สูงกว่าคู่แข่งในอาเซียนอย่างเวียดนาม (20%) มาเลเซีย (25%) และอินโดนีเซีย (32%) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาโดยตรง รวมถึงจะกระทบการส่งออกของไทยในภาพรวมทุกตลาดทั่วโลกซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบส่งออกได้ลดลง 8-9 แสนล้านบาทในปีนี้
ขณะเดียวกันอาจลามไปถึงภาคการลงทุน เมื่อไทยกลายเป็น ตัวเลือกท้าย ๆ ของนักลงทุนต่างชาติ ในภูมิภาค เพราะต้นทุนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่ได้เปรียบด้านภาษีจึงมีมากขึ้น ทำให้ไทยอาจเสียโอกาสการลงทุนในระยะยาว ซึ่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การส่งออก และการจ้างงานตามมา
ทั้งนี้ในปี 2568 ช่วงต้นปี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ระบุว่า แนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย กำลังมีทิศทางที่สดใส โดยมีการตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศได้มากกว่า 800,000 ล้านบาท
ดับฝันไทย-หล่นตัวเลือกอันดับ 4 :
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากอัตราภาษีที่ไทยได้รับจากสหรัฐ ณ ปัจจุบัน ที่ 36% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนที่เป็นคู่แข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ต่างได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐในอัตราที่ตํ่ากว่าไทย เช่น เวียดนามที่ 20% มาเลเซียที่ 25% และอินโดนีเซียที่ 32%
หากพิจารณาจากตัวเลขเหล่านี้ ในแง่การลงทุนของต่างชาติ (FDI) เพื่อผลิตและการส่งออกไปสหรัฐ ไทยจะหล่นไปอยู่อันดับ 4 ของอาเซียนที่ต่างชาติจะมาลงทุนครั้งใหม่ รวมถึงการย้าย/ขยายฐานการลงทุน โดยตัวเลือกอันดับ 1 ถึง 4 จะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ตามลำดับ

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะเลือกไปไปลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชา ที่เสียภาษีนำเข้าสหรัฐในอัตราเดียวกับไทยที่ 36% มากขึ้น จากมีความได้เปรียบมีแรงงานรองรับจำนวนมาก และยังมีค่าจ้างที่ตํ่ากว่าไทยมาก
“หากที่สุดแล้วไทยเจรจาสหรัฐเพื่อลดภาษีลงไม่สำเร็จ และต้องเสียภาษีในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้นักลงทุนทั้งต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทย ในการพิจารณาการลงทุนใหม่ รวมถึงการย้ายฐานการลงทุน จะไปที่เวียดนามเป็นอันดับแรก ซึ่งจาก 100% สัดส่วน 60-70% น่าจะไปลงทุนในเวียดนาม และ 30% ลงทุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยตัวเลขจะเห็นได้ชัดเจนในปีหน้า”
โดยสินค้าที่มีโอกาสย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องจักรอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป เพราะการไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามแล้วส่งไปยังตลาดสหรัฐ จะประหยัดภาษีนำเข้าที่ต้องเสียให้กับสหรัฐได้ถึง 16% เมื่อเทียบกับการผลิตและส่งออกจากประเทศไทย
เกษตร-อุตฯเสี่ยงตกงานล้านคน :
นอกจากนี้จากอัตราอัตราภาษีที่แต่ละประเทศในอาเซียนได้รับจากสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยที่ต้องเสียอัตราภาษีสูงสุดในกลุ่มนี้ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐที่ลดลงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในกรณีสหรัฐยังคงภาษีไทยไว้ที่ 36%
คาดจะส่งผลกระทบคนไทยมีโอกาสตกงานประมาณ 1 ล้านคนและรายได้จะหายไปประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และผลผลิตภาคภาคอุตสาหกรรม (ที่โรงงานจะลดกำลังการผลิต) จะลดลงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านบาท และผลผลิตภาคเกษตรจะลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมลดลงมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดใหญ่สุดของการส่งออกไทย และในภาพรวมยังต้องแข่งขันกับสินค้าจากทั่วโลกที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐ รวมถึงแข่งขันกับประเทศในอาเซียนด้วยกันเองที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าจะคล้ายคลึงมาก เช่น สินค้าไทยและเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วน ยางล้อรถยนต์ สินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว ผลไม้ และผลไม้แปรรูป
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของมาเลเซียไปสหรัฐเช่น ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรอุปกรณ์ นํ้ามันปาล์มและผลิตภัณฑ์ ถุงมือยาง อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่ม ส่วนอินโดนีเซีย สินค้าส่งออกสำคัญไปสหรัฐเช่นชิ้นส่วนรถยนต์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ยางล้อรถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากปาล์มนํ้ามัน เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสัดส่วน 18% ของการส่งออกในภาพรวม เวียดนามพึ่งพาส่งออกไปสหรัฐสัดส่วน 30% มาเลเซียพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ 10% และอินโดนีเซียพึ่งพาการส่งออกตลาดสหรัฐ 9%
นิคมอุตฯสะเทือน FDI เสี่ยงย้ายฐาน :
นายพรนริศ ชวยไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า กำแพงภาษีสหรัฐฯที่จะเก็บการนำเข้าสินค้าในอัตราที่ 36% จากไทย มองว่าไทยจะได้รับผลกระทบสูง โดยเฉพาะภาคส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์หลักที่ต้องแบกรับ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่พุ่งสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าอย่างประเทศเวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ต้นทุนต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ทีมเจรจาของรัฐบาลที่อยู่เร่งดำเนินการ ซึ่งยังมีความหวังจะได้รับการปรับลดภาษีลงจาก 36% มาอยู่ที่ระดับ 20-25% ถือว่าอยู่ในระดับกำลังดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายและสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ แม้ไทยจะเสียเปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่สูง แต่ไทยเป็นฮับการขนส่งสินค้า รวมถึงสาธารณูปโภคที่ดีกว่า
อย่างไรก็ดีกรณีเลวร้าย การเจรจารอบสุดท้ายไม่เป็นผล สหรัฐยังยืนยันเก็บอัตราภาษีสินค้าไทยที่ 36% ไทยจะเสียเปรียบเต็มประตู และยังจะมีผลกระทบถึงการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติ อย่างจีนที่ปัจจุบันเข้ามาซื้อที่ดินไทยจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อาจจะต้องทิ้งฐานการผลิตในไทยและไปเวียดนาม ที่มีต้นทุนค่าแรงและภาษีที่ตํ่ากว่า และมองว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ หากเป็นกลุ่มที่เข้ามาตั้งฐานการผลิต และส่งออกไปสหรัฐโดยตรง ซํ้าร้ายกว่านั้นจะมีผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังทรุดตัวตามไปด้วย
“อมตะ” รับอาจมีทุนไหลออก :
นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เผยว่า เวลานี้ยังไม่เห็นมุมมองเชิงลบจากลูกค้าจากอัตราภาษีที่ไทยได้รับ 36% ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ซึ่งหมายความว่าสหรัฐยังเปิดโอกาสให้ไทยยื่นข้อเสนอ หรือเงื่อนไขใหม่ให้พิจารณา เพราะฉะนั้น จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ส.ค. 68 อัตราการจัดเก็บภาษียังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือจะกล่าวก็คือควรรอความชัดเจนสุดท้ายถึงจะสามารถตอบคำถามได้ดีที่สุดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และต้องปรับตัวอย่างไร
ขณะที่ลูกค้าของบริษัทซึ่งประกอบกิจการอยู่ในนิคมฯก็ไม่ใช่ว่าจะผลิตและส่งออกไปแค่ตลาดสหรัฐฯเท่านั้น ยังมีตลาดยุโรป เวลานี้บริษัทก็กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ส่วนการย้ายผลิตนั้น หากมองประเทศอื่นก็ถือว่ายังถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูง ยกเว้น เวียดนาม อย่าง สปป.ลาวก็ถูกเรียกเก็บที่ 49%
“การเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเวลานี้ถือว่ายังไม่ถึงจุดสิ้นสุดที่แน่นอนว่าจะโดน 36% โดยสหรัฐฯพยายามที่จะดึงเกมเพื่อรอข้อเสนอใหม่จากไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด”
ทั้งนี้บริษัทก็มีการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับรอข้อสรุปที่ชัดเจนจากสหรัฐฯ เพื่อวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจมีทุนไหลออกไปเวียดนาม และมาเลเซียที่ถูกเรียกเก็บภาษีตํ่ากว่าไทยบ้าง ซึ่งหากเป็นเวียดนามบริษัทก็ไม่ได้กังวลเท่าใดนัก เพราะบริษัทมีนิคมฯตั้งอยู่ในเวียดนามเช่นกัน
สหรัฐคงภาษีทุนนอกเบรกลงทุน :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า หากอัตราภาษีของไทยไม่สามารถแก้ไขหรือเจรจาได้ก่อนครบกำหนด จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงแค่ทำให้ไทยเสียโอกาสทางการค้า แต่จะเสียโอกาสด้านการลงทุนด้วย นักลงทุนต่างชาติที่มีแผนจะมาลงทุนในไทยจะชะลอการตัดสินใจ หากต้องการผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ
ปัจจุบันไทยยังคงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน การลงทุนบางอย่างกับสินค้าบางประเภทอาจยังคงดำเนินต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับการหาตลาดใหม่ของผู้ประกอบการ ต้องพยายามกระจายความเสี่ยงและปรับตัวให้เร็ว แต่การขยายตลาดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเปิดประเทศและ FTA มีแรงสนับสนุนจากรัฐบาล
ฉุดส่งออก 2 ล้านล้านบาท :
ด้าน นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่า ภาษีไทยที่ไทยได้รับจากสหรัฐที่ 36% ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะทำให้ต้นทุนส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ และจะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งมากที่สุด ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสำเร็จรูป ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น เป็นต้น ซึ่งหลายอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานเข้มข้นที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้าง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว หรือมีความตั้งใจจะมาลงทุนในประเทศไทย เมื่อเห็นว่าประเทศไทยแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากว่าอัตราภาษีสหรัฐสูงกว่าคู่แข่งขันอย่างเห็นได้ชัด อาจมีการทบทวนแผนการลงทุน หรือย้ายฐานการลงทุนจากไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 กรกฏาคม 2568