เกษตรไทยบักโกรก สหรัฐบีบภาษีหนัก นำเข้า-ส่งออกโดนถ้วนหน้า หมู-โค-ไก่-ข้าวโพด ผวาสิ้นอาชีพ
หมู-โค-ไก่-ข้าวโพด ลุ้นระทึกผลเจรจาสหรัฐ ผวาบีบไทยลดภาษี 0% เปิดทางนำเข้าสินค้ามะกัน ทุบห่วงโซ่การผลิตหลายแสนรายล่มสลายในอาชีพ อีกด้านสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปอเมริกา ทั้งทูน่า กุ้ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผวาตัวเลขทรุดหนัก หากภาษีไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ตลาด 1.8 แสนล้านส่อดิ่งเหว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “พิชัย ชุณหวชิร” เตรียมเจรจารอบใหม่กับสหรัฐอเมริกาคืนวันที่ 17 กรกฎาคม ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หวังปิดดีลลดอัตราภาษีตอบโต้ให้ต่ำกว่า 36% ก่อนมีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคม 2568 ข้อเสนอใหม่ของไทยครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม เช่น ลำไย ปลานิล การนำเข้าพลังงานจากสหรัฐ และการส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน 200,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ภาคเกษตรของไทยมีความน่าเป็นห่วง หากไทยต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าสหรัฐภาษี 0% ตามอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซียที่ปิดดีลกับสหรัฐไปก่อนหน้า

โคเนื้อผวารอวันตาย :
นายสุรชัย เปี่ยมคล้า เลขานุการ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร แต่หากรัฐบาลตัดสินใจเอาโคเนื้อและเครื่องในวัว ไปแลกกับสหรัฐโดยลดภาษีนำเข้าเป็น 0% หรือลดภาษีเหลือในอัตราต่ำให้กับสหรัฐ เพื่อแลกกับที่สหรัฐจะลดภาษีนำเข้าสินค้าไทยลงจาก 36% เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อรอวันตายอย่างเดียว ปัจจุบันราคาโคเนื้อมีชีวิตที่เกษตรขายได้ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ ขายได้เฉลี่ย 60-70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยที่ 83 บาทต่อ กก. (ต้นทุนตามข้อมูลของ สศก.) ปัจจุบันมีโคเนื้อทั้งประเทศ กว่า 9 ล้านตัว
“ขณะนี้การบริโภคเนื้อวัวในประเทศของไทยได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ บวกกับการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียที่มี FTA ระหว่างกันได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไทยได้ปลดล็อกไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า สามารถนำเข้าได้อย่างอิสระ ทำให้ในปี 2567 ไทยมีการนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลียกว่า 29 ล้านกิโลกรัม และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลความต้องการโคเนื้อในประเทศน้อยลง
ล่าสุดจากการที่ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเรื่องคัดค้านการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ รวมถึงส่งเรื่องไปที่กระทรวงพาณิชย์ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งสองหน่วยงานมีหนังสือตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “รับทราบ” ดังนั้นชีวิตและชะตาของเกษตรกรไทยถืออยู่ในมือรัฐบาลที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ”
หมูกว่าแสนรายกังวลหมดอาชีพ :
นายสิทธิพันธ์ ธนเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า หากไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูที่มีราคาถูกจากสหรัฐจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก เข้ามาตีตลาดในประเทศ จะเท่ากับเป็นการลงดาบผู้เลี้ยงสุกรไทยทั้งประเทศกว่าแสนรายอาจต้องหมดอาชีพ
นอกจากนี้จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ในห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ถั่วเหลือง โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปเนื้อหมู และแรงงานที่เกี่ยวข้องนับแสนชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ อาจจะต้องล่มสลายไปด้วยกัน ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรนำเนื้อหมูไปเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองให้สหรัฐลดภาษีให้ไทย
หวั่นไก่มะกันถล่มตลาด ซ
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สหรัฐเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก หากไทยลดภาษีนำเข้าเป็น 0% มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะส่งเนื้อไก่เข้ามาขายในเมืองไทย โดยชิ้นส่วนไก่ที่สหรัฐมีศักยภาพและมีราคาถูกที่จะส่งมาขายไทย เช่น ส่วนเนื้อน่อง สะโพก ที่คนอเมริกันไม่ค่อยรับประทาน แต่ส่วนใหญ่จะชอบรับประทานเนื้อหน้าอกที่มีราคาสูงกว่า และปกติสหรัฐจะกีดกันไม่ให้สินค้าไก่จากต่างประเทศเข้าไปเปิดตลาดได้เลย
“ถ้าเนื้อไก่สหรัฐเข้ามาจริงต้นทุนถูกกว่าแน่นอน เพราะต้นทุนไก่เนื้อไทยแพง แต่ตอนนี้ปรับขึ้นมาได้ดีหน่อยจากกากถั่วเหลืองราคาถูกลงมา ทำให้เกษตรกรพอมีกำไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นก็ต้องมาแข่งกันที่ต้นทุนอีก ถ้ามีเนื้อไก่จากที่อื่นเข้ามาเติมในตลาดในประเทศก็จะกระทบเพราะเป็นตลาดการบริโภคเดียวกัน”
ปัจจุบันสหรัฐยังมีสถานการณ์ไข้หวัดนกระบาดในบางพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่กรมปศุสัตว์สั่งชะลอนำเข้า จากปกติไม่มีโรคระบาดทางเอกชนก็จะขอนำเข้าพวกปู่ย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ไก่เนื้อ กลุ่มยา และวิตามินจากประเทศสหรัฐอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีหากมีการลดภาษีเป็น 0 โอกาสเปิดรับไก่เนื้อจากสหรัฐก็มีโอกาส แต่สหรัฐจะเปิดให้ไทยเข้าตลาดไปขายได้หรือไม่แบบ วิน-วิน และต่อไปหากในอนาคตสินค้าไก่ไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐได้มากขึ้น สหรัฐจะขึ้นภาษีไทยภายหลังอีกหรือไม่ นี่เป็นข้อกังวล
กระทบชิ่งโรงงานอาหารสัตว์ :
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ในการเจรจากับสหรัฐไม่ควรไปแตะในสินค้าหมู เพราะหากเปิดให้หมูสหรัฐเข้ามา เกษตรกรและผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตที่ต่อเนื่องจะกระทบอย่างรุนแรง
นอกจากนี้จะกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคญในการผลิตอาหารสัตว์เป็นลูกโซ่ และจะส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตอาหารสัตว์ด้วยเพราะอาจขาดแคลนวัตถุดิบ และขายได้ลดลง ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของสหรัฐต้องตกลงกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐก่อนว่าจะขอไทยลดภาษีสินค้าใด ไม่ใช่ไทยต้องลดภาษีเป็น 0% ให้ทุกสินค้า เพราะไทยก็ต้องปกป้องเกษตรกรเช่นเดียวกับสหรัฐ
“อรรถกร”พร้อมยืนเคียงข้างเกษตรกร :
ขณะที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางกระทรวงฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะกับทีมเจรจาของไทยในส่วนของสินค้าเกษตร ซึ่งโดยหลักการหากสินค้าใดส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศเป็นจำนวนมาก ไทยควรปฏิเสธ และไม่ควรที่จะลดภาษีนำเข้าให้สินค้าเกษตรจากสหรัฐที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยลงเป็น 0% เช่น เนื้อหมู และเครื่องใน เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตรในรายการใดของสหรัฐ ที่จะส่งมาจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน หากเป็นสินค้าที่นำเข้ามาแล้วไม่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศมาก ก็ขอให้คณะเจรจาพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดียอมรับว่าการเจรจาต่อรองย่อมมีทั้งได้และเสีย ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องคิดหามาตรการในการรองรับผลกระทบหรือแก้ปัญหาที่จะตามมา
ทูน่า-อาหารสัตว์เลี้ยงลุ้นภาษีต่ำ :
ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปของไทยไปสหรัฐ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ และกรมศุลกากร ในปี 2567 ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐมูลค่ารวม 188,914 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรและเกษตรต่อเนื่องอาหารสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ เช่น ยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (กุ้ง ปลา) ข้าวและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
สำหรับในสินค้าทูน่ากระป๋อง ที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในปี 2567 ไทยการส่งออกมูลค่า 16,825 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19% ส่วนช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีการส่งออกมูลค่า 7,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%จากช่วงเดียวกัของปีก่อน
ขณะที่ในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง สหรัฐก็เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยเช่นกัน โดยปี 2567 ไทยมีการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปสหรัฐ 30,670 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 49% ส่วนช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกมูลค่า 14,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22% ทั้งนี้หากสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทนไทย (Reciprocal Tariff) 36% อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าทั้งสองรายการของไทยไปสหรัฐจะขยายตัวลดลง
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอให้กำลังใจทีมเจรจาของไทยให้ได้ดีลภาษีที่ออกมาดีที่สุด และทำให้สินค้าไทยในภาพรวมยังแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในภาพรวมทุกสินค้า
ซึ่งจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าทีมไทยแลนด์ และหัวหน้าคณะเจรจาระบุว่า ไทยจะลดภาษีสินค้า 90% ของรายการสินค้าที่ไทยค้ากับสหรัฐ รวมถึงพ่วงประเด็นอื่น ๆ เพื่อสร้างความพอใจให้กับสหรัฐ ภาคเอกชนก็มั่นใจว่าจะมีความสำเร็จในการปิดดีลการเจรจาในรอบใหม่นี้
กุ้งห่วงเสียเปรียบคู่แข่งหนัก :
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย หนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ กล่าวว่า หากไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 36% จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยอย่างมาก หากประเทศคู่แข่งขันส่งออกกุ้งที่สำคัญของไทยไปสหรัฐ เช่น เอกวาดอร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง และอาจสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น (ปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งไปสหรัฐ 8,757 ล้านบาท) จากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องหาตลาดใหม่ทดแทน หรือเพิ่มการบริโภคในประเทศ
เกษตรมะกันอยากได้ตลาดไทย :
นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หมวดสินค้าเกษตร เป็นหมวดที่สหรัฐมีการพูดถึงหรืออ้างเสมอว่า ประเทศไทย มีมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี และบางรายการมีการคิดภาษีสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่สหรัฐคิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในหมวดสินค้าเกษตรต่ำกว่า โดยค่าเฉลี่ยไทยเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐประมาณ 27%
สำหรับสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรเพราะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน โดยสหรัฐเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง รวมถึงหมูที่สหรัฐเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่เป็นผู้ส่งออกเนื้อหมูอันดับ 1 ของโลก โดยผลิตในปริมาณมาก ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐต้องการเข้าถึงตลาด
อย่างไรก็ดีในสินค้าเนื้อหมู เนื้อวัวไทยก็มีเกษตรกรเกี่ยวข้องหลายแสนราย และเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไทยก็ต้องปกป้องเกษตรกรเช่นกัน ดังนั้นการเจรจากับสหรัฐครั้งนี้ของทีมไทยแลนด์คงต้องต่อรองอย่างรอบคอบและขอให้กำลังใจ เพื่อให้ได้ดีลภาษีออกมาดีที่สุด โดยเป้าหมายสำคัญคือภาษีไทยต้องไม่เสียเปรียบเวียดนาม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 กรกฏาคม 2568