บทความพิเศษ : เหลียวหลัง แลหน้า : จากเจ้าพระยาสู่อ่าวตังเกี๋ย ในสายตานักการทูต
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 คุณคมกริช วรคามิน ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในเวียดนาม และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประธานสภาธุรกิจ-ไทยเวียดนาม กล่าวเปิดงานการเปิดโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทโอมมี่ เยลลี่ (Ohmmy Jelly) ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในโอกาสดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้บรรยายให้ข้อแนะนำแก่บรรดานักธุรกิจที่ร่วมงานสัมมนาหลังการเปิดงาน เรื่อง “เหลียวหลัง แลหน้า: จากเจ้าพระยาสู่อ่าวตังเกี๋ย” เพื่อเป็นข้อมูล และเชิญชวนให้ผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ที่กรุงเทพ และ/หรือหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเวียดนาม (ThaiCham) ที่นครโฮจิมินห์ มีใจความสรุปดังนี้
“ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในเวียดนามจากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นวิสาหกิจของคนหนุ่มจากกรุงเทพฯร่วมกับแรงงานหนุ่มสาวในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผลิตสินค้าเยลลี่ ขนมขบเคี้ยวทานตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ โดยการสนับสนุนให้เครดิตลงทุนจากเอ็กซิมแบงก์ ข้าพเจ้าตอบรับไม่ลังเลที่จะไปร่วมในพิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่ชานเมืองหาดใหญ่
เรามีผู้ดำเนินรายการ วิทยากรผู้บรรยายที่สัมผัสเรื่องการค้าการลงทุนของไทยในจีนและด้านอื่นๆ จากที่เคยเป็นผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์มาถ่ายทอด ข้าพเจ้าได้รับเชิญโดยตรงและได้รับมอบหมายเพิ่มจากนางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ผู้มีอาชีพหลักเป็นผู้บริหารของบริษัทเซ็นทรัลในเวียดนาม ให้มาเป็นผู้แทนประธานในพิธีอีกด้วย
ข้าพเจ้าเดินทางมาหาดใหญ่ด้วยรถไฟตู้นอนเดี่ยวปรับอากาศ ใช้เวลา 17 ชั่วโมง ท่านอื่นมาทางเครื่องบินหรือขับรถมาเอง มีคนร่วมเดินทางจำนวนคับคั่ง บริการสะดวกสบาย สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งโดยคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งอาจจะพอใจการเดินทางใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่อึกทึก เป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านไปและวางแผนสิ่งที่จะทำข้างหน้า สมกับชื่อหัวข้อการไปบรรยายครั้งนี้ คือ “เหลียวหลัง แลหน้า : จากเจ้าพระยาสู่อ่าวตังเกี๋ย” เกี่ยวกับเวียดนาม บนพื้นฐานที่เคยศึกษาและทำงานเกี่ยวกับเวียดนาม และรับราชการนานถึง 40 ปี
การบรรยายแก่นักธุรกิจหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งกระตือรือร้นที่จะเปิดตลาดการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นสังคมนิยมเป็นพื้นฐาน แต่หลังปี 2529 ได้เลือกเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบการตลาดด้วยแนวคิด “โด๋ยเม้ย” โด๋ย คือ เปลี่ยน และ เม้ย คือใหม่ อีกทั้งมีการถอนกำลังทหารจากกัมพูชา ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย บรรดาประเทศเพื่อนบ้านและตะวันตก เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ในสายตาคนจำนวนมาก เวียดนามพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว สูสีที่จะแซงประเทศไทย เนื่องเพราะ ประการแรก
1) เวียดนามเป็นตลาดใหญ่อันดับที่สามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ชายฝั่งทะเลยาวมาก
2) เวียดนามมีประชากรมากถึง 100 ล้านคน ซึ่งเป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภคสินค้าอุปโภค-บริโภคจากไทย ซึ่งเป็นที่นิยมสูง เฉกเช่นจากจีน เศรษฐกิจใหญ่ทางตอนเหนือหของประเทศ เป็นแรงงานราคาย่อมเยา ปัจจัยดึงดูดต่อการลงทุนจากเอเชียตะวันออกและตะวันตกอย่างยิ่ง
3) เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง สั่งสมความมุมานะตั้งใจมั่นมาจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเอกราชจากอาณานิคมจีน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามและการปรับตัวครั้งใหญ่หลังสงครามยุติลง เหล่านี้ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากผู้นำจิตวิญญาณ เช่น ประธานโฮจิมินห์ และลัทธิมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ซึ่งหล่อหลอมขึ้นเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ระหว่างการเดินทางนี้ พรรคฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวผู้นำรุ่นหลังๆ ได้รับการทดสอบภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งผู้นำที่มีปัญหาคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจในทางที่ผิด ถูกระบบเข้าจัดการกวาดล้างเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปเข้าบริหารผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายจะถูกทดแทน
ปัจจัยประการต่อมา
4) การได้รับยอมรับจากต่างประเทศ ประเด็นนี้กับการบริหารปกครองเดินทางไปด้วยกันสอดคล้องกัน เวียดนามบัดนี้ประพฤติตนเป็นผู้ยึดถือกฎระเบียบระหว่างประเทศ ไม่เป็นผู้เกเร มีการยอมรับให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศสำคัญๆ รวมทั้งเอเปกและการพบปะสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ซึ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานนี้ แม้ว่าการประชุมไม่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น แต่การเลือกกรุงฮานอยเป็นที่จัดการประชุมถือได้ว่าสร้างชื่อเสียงแก่เวียดนามอย่างมาก เพราะการเตรียมการทางด้านกายภาพ จราจร การรักษาความปลอดภัย การรักษาระเบียบวินัย การควบคุมฝูงชนในช่วงการประชุมถือว่าสำคัญมาก เรียกได้ว่า ในสัปดาห์นั้น โลกจับตามองไปที่เวียดนามโดยแท้
เวียดนามในยุคปัจจุบันจึงเป็นดินแดนแห่งโอกาสและการท้าทาย เพราะเหรียญๆ หนึ่ง มีสองด้านเสมอนักธุรกิจชาวไทยพึงพินิจพิเคราะห์ก้าวย่างในการไปทำการค้าและการลงทุน ยุคหลังโควิด-19 เปิดกว้าง การเดินทางไป-มาสะดวกขึ้นแล้ว
ในทางกลับกัน ไทยยังเป็นที่นิยมในเวียดนาม สินค้าส่งออกของไทยเป็นที่นิยมชื่นชม เราได้เปรียบดุลการค้า เราลงทุนอันดับต้นๆ มายาวนาน นักธุรกิจนักลงทุนไทยควรผนึกกำลังเพื่อไม่ทำงานลำพังโดดเดี่ยว ยุคสมัยใหม่ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกลไกสำคัญๆ ที่น่าใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนของภาครัฐ คือ ทีมไทยแลนด์ หรือทีมประเทศไทย นั่นก็คือ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ที่กรุงเทพฯ ดังมีความร่วมมือกับสมาคมชมรมต่างๆ ในเครือข่าย และหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่นครโฮจิมินห์
ซึ่งทั้งสององค์กรสนับสนุนการทำงานที่เป็นปึกแผ่นกับภาคราชการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ การลงทุน การท่องเที่ยว การธนาคาร เรียกว่าทุกหน่วย
การเดินทางโดยรถไฟครั้งนี้นำไปสู่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ นอกเหนือจากการไปพบปะและร่วมการบรรยายแก่บุคลากรที่มีศักยภาพและสนใจนับร้อยเหล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสทบทวนบทเรียน พักผ่อน เปิดหูเปิดตาต่อสิ่งใหม่และความน่ารักของชาวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งมีร้านอาหารไทย จีน อร่อยอยู่มากมาย รองรับคนจากมาเลย์ สามจังหวัดแดนใต้ มีชีวิตที่สงบ เป็นระเบียบปลอดภัย รถราอาจจะมากสักหน่อย แต่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการใช้สัญญาณไฟจราจรอัตโนมัตินับถอยหลังตามจังหวะทุกสี่แยก ชีวิตปลอดภัย อยู่สุขสบาย
เมื่อถึงเวลาอันควร เจ้าภาพนำข้าพเจ้าไปส่งที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับสู่เมืองหลวงนักการทูตน้อยๆ กำลังจะพลิกหน้าหนังสือไปสู่หน้าถัดไป แม้นมิใช่ทหารหาญ แต่สโลแกนนี้โดนใจใช้ได้กับเรามืออาชีพ “ทหารแก่ไม่ตายลับไป หากเพียงแต่จะจางหายไป -- ไปสู่คนร่นต่อไปนั้นแล”
https://www.youtube.com/watch?v=RHM1ysc2VeA





ข้อมูลวิทยากร :
คมกริช วรคามิน
อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย,
ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม,
ที่ปรึกษาสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย)
ผู้แต่งหนังสือ "บันทึกนักการทูต" และ “รวมงานเขียนเรื่องการต่างประเทศของไทยและเวียดนาม”
ที่มา แนวหน้า
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566