อัพเดท! กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ของเยอรมัน บริษัทไทยได้รับผลกระทบหรือไม่?
The Supply Chain Due Diligence Act’ เป็นพระราชบัญญัติปกป้องสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ของเยอรมัน มาจากแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The National Action Plan for Business and Human Rights: NAP) ของเยอรมันในปี 2559 ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก The UN Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ มาจากปัญหาในช่วงแรกที่ไม่ได้มีการบังคับให้บริษัทเยอรมันที่มีความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำ Supply chain due diligence ส่งผลให้มีจำนวนบริษัทที่ดำเนินการดังกล่าวมีไม่เพียงพอ จากผลสำรวจของ NAP Monitoring ปี 2563 พบว่า มีบริษัทที่ดำเนินการเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น
ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันของเยอรมัน จึงได้ตกลงยกร่างและมีการรับรองร่างพระราชบัญญัติปกป้องสิทธิมนุษยชนครั้งแรกในปี 2564 มีผลบังคับใช้ในเยอรมันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายก่อนร่างกฎหมาย “EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence” ของอียู ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า
วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฯ นอกจากจะมีไว้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น ประเด็นแรงงานเด็ก สิทธิแรงงาน ยังมีไว้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าในตลาดเยอรมันด้วย เช่น การปกป้องป่าไม้ การสร้างมลพิษ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้ง Climate Club ของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่เสนอในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ในสมัยที่เยอรมันเป็นประธานกลุ่ม โดยมุ่งให้ Climate Club เป็น an intergovernmental forum of high ambition ที่มีความเปิดกว้างและมีความร่วมมือกันด้วยดี โดยเน้นความร่วมมือด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Decarbonization)
ด้านหลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติสำหรับบริษัทที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติฯ มีดังนี้
(1) จัดตั้งระบบบริหารจัดการความเสี่ยง (Establishing a risk management system)
(2) แต่งตั้งผู้รับผิดชอบภายในบริษัท (Designating a responsible person or persons within the company)
(3) วิเคราะห์ความเสี่ยงและรายงานผล (Conducting regular risk analyses and issuing a policy statement)
(4) วางแนวทางการรับมือ (Laying down preventive measures)
(5) วางแนวทางปรับปรุงและพัฒนาต่อข้อวิจารณ์ต่าง ๆ (Taking remedial action and establishing a complaints procedure)
(6) รายงานผล (Documenting and reporting)
พระราชบัญญัติฯ แบ่งการบังคับใช้เป็น 2 ระยะ ได้แก่
(1) ตั้งแต่ปี 2566 ให้บริษัทในเยอรมันที่มีพนักงาน มากกว่า 3,000 คน ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงและการควบคุมการจัดจ้างพนักงานให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนใน Suppliers ของบริษัท และให้รายงานผลลงบนเว็บไซต์ของบริษัทด้วย และ
(2) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป กำหนดให้บริษัทเยอรมันที่มีพนักงานจำนวน 1,000 คน ขึ้นไปต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงและด้วย ทั้งนี้ บริษัท SMEs ซึ่งไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติฯ แต่หากเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ของบริษัทภายใต้พระราชบัญญัติฯ อาจถูกบังคับทางอ้อมจากบริษัทแม่ หรือผู้จัดซื้อหรือจัดจ้าง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ หรือตามมาตรการของบริษัทแม่ จากการประเมิน จำนวนบริษัทเยอรมันที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ ในปี 2566 มีจำนวนประมาณ 700 แห่งและในปี 2567 จำนวนประมาณ 2,900 แห่ง
The Federal Office for Economic Affairs and Export Control (BAFA) เป็นหน่วยงานหลักที่บังคับใช้พระราชบัญญัติฯ โดยการตรวจสอบรายงาน เรียกเอกสารจากบริษัทเพิ่มเติม กำหนดให้บริษัทกระทำการใด ๆ ตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจปรับบริษัทที่ละเมิดพระราชบัญญัติฯ ได้สูงถึง 800,000 ยูโร และสำหรับบริษัทที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 400 ล้านยูโร อาจถูกปรับได้ถึงร้อยละ 2 ของจำนวนรายได้ (ซึ่งอาจสูงถึง 8 ล้านยูโร)
ผลกระทบต่อไทย
บริษัทไทยที่เป็น Suppliers ให้กับบริษัทเยอรมันที่เข้าข่าย หรือบริษัทไทยที่อยู่ในเยอรมันและเข้าเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ บริษัทเยอรมันที่ดำเนินธุรกิจกับ Suppliers ไทยในสาขาอุตสาหกรรมประมง อาจมีความเสี่ยงและควรระมัดระวังการดำเนินงานมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันประเด็นเรื่องการบังคับใช้แรงงาน (ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน)
ที่มา globthailand
วันที่ 10 เมษายน 2566