Viet Nam Digital Economy
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 สภาธุรกิจไทย – เวียดนาม ได้จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ "Thailand - Viet Nam Digital Economy" ซึ่งสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
(1) เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 20% ของ GDP ภายในปี 2568 และมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของ GDP ภายในปี 2573
(2) แนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม ใช้แนวทาง “Three Connects” ได้แก่
2.1) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในสาขาที่เกื้อกูลกัน
2.2) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการท้องถิ่น และ
2.3) การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะ BCG กับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของเวียดนาม นับเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศพัฒนาอย่างเข้มแข็งมากขึ้น
(3) การพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) โดยได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติเวียดนามและธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการชำระเงินด้วย QR Code ผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือของธนาคารพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565
ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ร้านค้าของทั้งสองประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปมาระหว่างกัน ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกันมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต
(4) บทบาทของบริษัท FPT เวียดนามในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อปี 2549 บริษัท FPT ได้จัดตั้ง FPT University ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของเวียดนามในด้าน IT ทั้งนี้ บริษัทมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ระหว่างเวียดนามกับประเทศไทย
(5) โอกาสการเติบโต เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 เพิ่มขึ้น 31% จาก 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 – 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573
(6) ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในทางเศรษฐกิจ
(6.1) โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่มีการนําเอาเทคโนโลยีเครื่องจักรต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์เครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต (IoT) เข้ามาเพื่อบริหารจัดการภายในโรงงานและเพิ่มการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่ออํานวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต
(2) การประยุกต์ใช้ AI ในการดูแลสุขภาพ
(3) ด้านค้าปลีก เช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและกระบวนการวิศวกรข้อมูล (Data Engineering) ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคประกอบการทำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) รักษาความปลอดภัย และพัฒนาระบบนิเวศภายในสนามบิน
(7) โอกาสด้านทรัพยากรมนุษย์ในเวียดนาม ปัจจุบันเวียดนามอยู่ในยุคทองของประชากร โดยเกือบ 70% ของประชากรอยู่ในวัยทำงาน และมีอัตราประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง โดยมีการใช้อินเทอร์เน็ตระดับครัวเรือนครอบคลุมกว่า 86% รวมถึงมีประชาชนใช้สมาร์ทโฟน 75% นอกจากนี้ แรงงานเวียดนามมีคุณลักษณะที่ทุ่มเท ขยัน และปรับตัวต่อเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าบุคลากรจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เวียดนามสามารถพัฒนาได้อีกไกลในอนาคต
(8) ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
8.1) แรงงานด้าน IT ของเวียดนามมีคุณภาพ
8.2) รัฐบาลเวียดนามมีแผนการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SME ทำธุรกิจออนไลน์ และ
8.3) เงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของเวียดนามยังคงประสบปัญหาด้านกฎหมายและการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยจากงานวิจัยที่จัดทำโดย Asian Internet Alliance (AIC) แสดงให้เห็นว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยของเวียดนามช้ากว่าสิงคโปร์ 10 เท่า มาเลเซีย 3 เท่า และประเทศไทย 2 เท่า
(9) อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของ E-commerce และเศรษฐกิจดิจิทัลมากที่สุดในปัจจุบัน โดยในปี 2565 ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มประเทศอาเซียน (จากการสํารวจข้อมูลในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะสูงถึง 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 และอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 (ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์)
ที่มา globthailand
วันที่ 19 พฤษภาคม 2566