"ปานปรีย์" แถลงผลงาน 6 เดือน กับนโยบายการทูตเชิงรุกนำไทยคืนสู่จอเรดาร์โลก
"ปานปรีย์" แถลงผลงานกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในรอบ 6 เดือน แลกเปลี่ยนการเยือนต่างประเทศในระดับสูง เพิ่มความสัมพันธ์ พร้อมทั้งนำนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกมาใช้ ทำให้ไทยสามารถกลับคืนสู่จอเรดาร์โลก
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวที่ กระทรวงการต่างประเทศ วานนี้ (1 เม.ย.) เกี่ยวกับ ผลการเยือนต่างประเทศในรอบ 6 เดือน ระบุ นโยบายการต่างประเทศเชิงรุก ทำให้ไทยสามารถกลับคืนสู่จอเรดาร์โลก จากการที่ประเทศต่างๆ เปิดให้เราเดินทางเยือนในระดับสูง มีการเจรจาหารือในเรื่องของความสัมพันธ์ ตลอดจนความร่วมมือด้านการต่างประเทศในหลากหลายประเด็น

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีความไม่แน่นอนสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิเทคโนโลยี โลกรวน และการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยได้ห่างหายไปจากจอเรดาร์โลก ไทยมีปฏิสัมพันธ์กับชาติต่างๆ น้อยลง ส่งผลให้บทบาทของไทยในเรื่องการต่างประเทศลดน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา” นายปานปรีย์ กล่าว พร้อมขยายความว่า การต่างประเทศมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ฉะนั้น ไทยจะต้องมีการเจรจากับต่างประเทศและดำเนินนโยบายในเชิงรุกมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนต่างประเทศทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการจำนวน 14 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ ขณะที่นายปานปรีย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มีการเดินทางเยือนต่างประเทศในระดับรัฐมนตรีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งสิ้น 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ไทยเองก็ได้ต้อนรับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหลายประเทศด้วยเช่นกัน อาทิ กัมพูชา ออสเตรเลีย จีน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสหราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ไทยที่ออกไปเยือนต่างแดน แต่นานาประเทศเองก็หลั่งไหลเข้ามาเยือนไทยด้วย แสดงให้เห็นว่า “การทูตเชิงรุก” ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและมีสถานภาพที่ดีขึ้นในเวทีโลก

ปานปรีย์ยังกล่าวด้วยว่า การเยือนต่างประเทศแต่ละครั้งไม่ใช่แค่การไปจับมือ แต่ยังมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ อย่างน้อยที่สุดคือการสานต่อความร่วมมือที่มีมาก่อนแล้ว และขยายความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
ในปีนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม Summit for Democracy ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนว่า ต่างประเทศมองเห็นแล้วว่า ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน ภายใต้การดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ท่านนายกฯเอง ได้พบบริษัทชั้นนำระดับโลกมากกว่า 60 บริษัท เช่น แอมะซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ มีการชักชวนมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว
นอกจากนี้ ไทยยังได้เดินหน้าเจรจาและลงนามความตกลงการค้าเสรี เช่น FTA ไทย-ศรีลังกา และเจรจากับประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้สามารถทำความตกลง FTA กันได้โดยเร็ว ตลอดจนการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในเรื่องต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ Thailand Vision ทั้ง 8 ข้อ
นายปานปรีย์กล่าวว่า การทูตที่ “ทันท่วงที” ในยามวิกฤต เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เพื่อให้ไทยมีความพร้อมในการรับมือวิกฤตต่างๆ เช่น การเจรจาสถานการณ์อิสราเอลและกาซา ทำให้เราสามารถเร่งนำคนไทยในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับประเทศโดยสวัสดิภาพ ขณะเดียวกัน เรายังพยายามประสานงานกับกลุ่มที่สามารถเจรจากับฮามาส เพื่อนำตัวประกันชาวไทยกลับบ้าน ซึ่งจนถึงขณะนี้สามารถช่วยเหลือตัวประกันออกมาได้แล้ว 23 คน ยังเหลืออยู่ในกาซา 8 คน ซึ่ง 3 คนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนอีก 5 คนยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ไทยได้แสดงบทบาทท่าทีชัดเจนเพื่อให้เมียนมากลับมามีเสถียรภาพ เอกภาพ และสันติภาพ ไทยมีแนวคิดริเริ่มที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวเมียนมา โดยจะนำฉันทมติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ของอาเซียนไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนประเด็นที่คนไทยเข้าไปทำงานในเมียนมาและอยากกลับประเทศเพราะสถานการณ์สู้รบที่รุนแรงในเมียนมา ทางกต.ได้ประสานงานกับหลายฝ่ายเพื่อให้คนไทยสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
อีกประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจคือ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รัฐบาลกำลังจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งทิศทางการเจรจาจะเป็นไปภายใต้กรอบ MOU ที่มีอยู่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงประการใด ก็ต้องรอการตัดสินจากคณะกรรมการชุดนี้ต่อไป
ไทยเป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้งโลก
การวางตัวและจุดยืนของไทยท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกนั้น รมว.ต่างประเทศกล่าวย้ำว่า ไทยเป็นมิตร ไม่เลือกข้าง และดำเนินการโดยตั้งอยู่บนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทย
“การที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯ และหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางมาเจรจากันในไทย สะท้อนให้เห็นว่าชาติมหาอำนาจให้ความไว้วางใจกับประเทศไทย และไทยก็มีนโยบายทางการทูตที่สมดุลท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์โลก”
ปานปรีย์กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญจากการเยือนเหล่านี้ คือไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเวทีระหว่างประเทศ และไทยจะผลักดันการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อหารือในประเด็นที่เป็นรูปธรรมและสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชนต่อไป
“การที่ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายทำให้ไทยตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตได้อย่างทันท่วงที ไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการเป็นมิตร และขยายความเป็นมิตรกับทุกประเทศเพื่อรักษาฐานะที่เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผลการเยือนทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าจุดยืนของไทยนั้นถูกต้อง การทูตของไทยไม่เลือกข้างแต่มีจุดยืนเป็นของตนเอง โดยยึดมั่นในหลักการกฎหมายระหว่างประเทศและค่านิยมสากล โดยมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนคนไทยเป็นหลัก”
กล่าวโดยสรุปคือ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการต่างประเทศใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
(1) การทูตเชิงรุก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและมีสถานะที่ดีขึ้น
(2) การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย
(3) การทูตที่ทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศอย่างรวดเร็ว
(4) การวางจุดยืนของไทยที่สมดุล เป็นมิตร ไม่เลือกข้าง และสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย ท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก และ
(5) การทูตที่ประชาชนสัมผัสได้ รวมไปถึงการลงพื้นที่ชายแดน และการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในเวทีโลก
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2567