"2 บิ๊กหอการค้า" แนะผ่าทางตัน Thailand Kodak Moment
นับเป็นระยะเวลา 3 ปีที่นายสนั่น อังอุบลกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนที่ 25 ต่อเนื่องกัน 2 วาระ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรผ่าน 3 Core Value Chains ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุน ด้านเกษตรและอาหาร ด้านท่องเที่ยวและบริการ ด้วยแนวทาง Connect the Dots ที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป เราจะสร้าง “Competitiveness และ Sustainability” เป็น มิชชั่นของเรา
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าเป็นองค์กรที่มุ่งเสนอแนวทางและความเห็นต่อรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด และในโอกาสต่อไป ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 จะมาเป็น successor ของผม ในเทอมต่อไป หอการค้าเรามีประเพณีที่มีการเตรียมตัวผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อ เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากหอการค้าต่าง ๆ เพราะว่าไม่ต้องมีเซอร์ไพรส์ นโยบายก็จะได้สั่งต่อไปได้
4 ความท้าทายรั้ง GDP :
นายสนั่น กล่าวว่า เราทราบว่า GDP ไทย นายกฯยังบอกว่าโต 1.9% จะทำอย่างไร ทางหอการค้าเองมาดู Challenge ตอนนี้ มี 4 ด้าน คือ
1) Geopolitical Challenge เกิดขึ้น แต่เราบอกว่า ประเทศไทยเป็นเพื่อนกับทุกคน ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะดึงคนเข้ามาแล้วทำให้การท่องเที่ยวโต ซึ่งท่านนายกฯช่วยอย่างมาก
เช่น การยกเว้นวีซ่า ตอนนี้ท่องเที่ยวประสบความสำเร็จแล้ว แต่การส่งออกจะทำอย่างไรที่จะประสบความสำเร็จ เพราะไทยเจอมา 3 คลื่น คือ อีสเทิร์นซีบอร์ด คลื่นที่สอง ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน และส่งออกทำรายได้ คลื่นที่สาม คือ ท่องเที่ยว ปี 2562 ถึง 40 ล้านคน แต่หลังจากนั้นไทยไม่มีเวฟที่ 4 ให้เห็นเลย
“การส่งออกของเรา ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไม่มีการปฏิรูป คงไปไม่ได้ จะกลายเป็น Thailand Kodak Moment เราจะทำอย่างไร ไม่อย่างนั้น อุตสาหกรรมใหม่ ๆ จะวิ่งไปที่มาเลเซีย ที่เวียดนามหมด นี่คือแชลเลนจ์ที่ต้องช่วยรัฐบาล ดึงการลงทุนนี้มาที่ประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง
โดยท่านนายกรัฐมนตรีก็พยายามไปเป็นเซลแมนส์ไปดึงโปรเจ็กต์ต่าง ๆ มาลงทุน แต่การ “ติดตาม” ยังไม่ดีพอ ทางที่ดีต้องมาทำงานร่วมกับหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าจะไปกันอย่างไร ไปเปิดประตูแล้ว จะต้อง “ปิดการขายให้ได้ เป็นคีย์แชลเลนจ์ที่ต้องไปแก้กฎหมายและปรับไมนด์เซต ข้าราชการต้องเปิดใจ”
2) Technical Challenge คนไทยภาษาอังกฤษอ่อนแอและการใช้เทคโนโลยีด้วย โดยเปอร์เซ็นต์ของคนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็น้อยมากประมาณ 1% ซึ่งการที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปดึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมาแล้วคนด้านเทคโนโลยีของเรามีเพียงพอจะรองรับหรือไม่เป็นคีย์หนึ่งที่เรามีปัญหา
“ทางหอการค้าเรามีความเชื่อว่า แม้ว่าการทรานส์ฟอร์ม AI แต่มี IA ด้วย หมายถึง Intelligence Augmentation คือ สู้คนอย่างเดียวคงไม่ได้ เอไอคือเอาเทคโนโลยีมาเสริมการทำงาน แต่ไม่สามารถรีเพลซคนได้ 100% ฉะนั้นเราจึงมอบให้ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งจะมีบทบาทในการส่งเสริมเรื่องนี้ อีกด้านคือ การประสานกับกระทรวงแรงงานในการอำนวยความสะดวก work permit ให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติที่จะเข้ามา”
3) Population Challenge ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประเด็นนี้หอการค้าได้เริ่มหารือกับหลายภาคส่วน เช่น ล่าสุดหารือกับทูตฟิลิปปินส์ มองถึงโอกาสในการร่วมกันด้านบุคลากร เพราะฟิลิปปินส์มีบุคลากรจำนวนมาก ภาษาดี เทคโนโลยีได้ แต่ยังติดอุปสรรคเรื่อง work permit ไทย
“เราต้องทำให้รัฐบาลเข้าใจว่า เรื่อง ทาเลนต์อิมมิเกรชั่นโพลิซี จะเกิดได้อย่างไร แม้แต่คนที่จะมาฝึกงานกับเราก็ยังไม่ได้เวิร์กเพอร์มิต ซึ่งหอการค้าจะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ต่อไป”
4) Climate Change Challenge ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิด ภาวะภัยแล้ง น้ำท่วม และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงกับกฎระเบียบการค้าใหม่ เช่น CBAM IUU ไทยจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
เร่งเคลียร์ภารกิจ-งานค้าง :
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าฯ จะขับเคลื่อนภารกิจใน 1 ปีสุดท้าย วันนี้ “เรือธงของหอการค้า” คือ ต้องการยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลัก ซึ่งเราได้ชี้ไปแล้ว ซึ่งท่านนายกฯเห็นด้วยและอยากสนับสนุนและได้มีการตั้งคณะกรรมการแล้ว “แต่ยังไปช้ามาก” เอกชนจึงนำร่องไปก่อน โดยเริ่มที่ จ.นครพนม ต่อไปจะไปคิกออฟที่ จ.กาญจนบุรี สำหรับเป้าหมายเรื่องการยกระดับไม่ใช่เพียงแค่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วย
เรื่องที่ 2 คือการยกระดับ SMEs เป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหอการค้าจะทำเรื่องที่ทำได้ คือ เงินทุนเหมุนเวียน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน คู่ขนานกับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ
“นายกรัฐมนตรีเตรียมจะไปอิตาลี ซึ่งทางหอการค้าได้คุยและมีเอ็มโอยูกับอิตาลีแล้ว เรื่องการพัฒนาเอสเอ็มอี การสร้างแบรนด์สินค้าอาหารและแฟชั่น โดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอดผ้าไหมของไทย เป็นมิชชั่นหนึ่ง ถ้าเราไปอิตาลีครั้งนี้ นำเอาเทคโนโลยีการพัฒนาเนื้อผ้าให้นุ่มนวลนำไปสู่การดีไซน์เป็นสินค้าแฟชั่นเพื่อขายไปในระดับโลก ซึ่งการที่ท่านนายกฯไปก็จะไปสนับสนุนให้เราสามารถตกลงปิดดีลอันนี้”
ความชัดเจน การกระตุ้น ศก. :
เรื่องที่ 3 ที่หอการค้ากังวลก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ตอนนี้ยังไม่มีอะไรกระตุ้นเลย เพียงแต่รออย่างเดียวคือ “งบประมาณ” ที่จะออกเดือนพฤษภาคมและต้องเร่งเบิกจ่ายต่อไปใน 5 เดือนต้องทำอย่างไรให้เร็ว สำหรับเรื่องดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น
หอการค้ามองว่า การจ่ายด้วยวัตถุประสงค์เพื่อช่วยคนเปราะบางกระตุ้นเศรษฐกิจ 15-16 ล้านคน และมีแอปพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” อยู่แล้ว สามารถจ่ายไปก่อน ส่วนการช่วยกลุ่มอื่นค่อยตามมาทีหลัง เพราะจากที่เคยเห็นปัญหาการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือในช่วงโควิด-19
“ดิจิทัลวอลเลตในไตรมาสที่ 4 จะทำได้จริงไหม ถ้าทำได้จริงจะช่วย GDP เพิ่ม 0.5% ทำให้ภาพรวมโต 3% เราเสนอเพราะปัญหาที่เจอมาจากช่วงโควิด มีปัญหาอีกเยอะ เพราะประชาชนลงทะเบียนไม่ได้ต้องไปขอร้องเซเว่น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีปัญหาเยอะเลย เรื่อง Super App อะไรต่าง ๆ และควรมีแนวทางอย่างไร กระจายไปยังกลุ่มเปราะบาง ไปให้ร้านชุมชน ไม่อย่างนั้นคงไปอยู่ที่คอนวีเนี่ยนสโตร์” นายสนั่นกล่าว
เร่งเครื่อง บุกตลาดเป้าหมาย :
เรื่องสุดท้าย ประเทศไทย ต้องเร่งยกระดับสู่เวทีระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ทางหอการค้าพยายามจะช่วยเลือกประเทศที่มีศักยภาพสูงและหอการค้ามีเน็ตเวิร์ก คู่ขนานกับที่ท่านนายกฯเป็นเซลส์แมนแล้ว คือ จีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ที่ไทยจะไปลงทุนที่เวียดนาม (ยังเป็นความลับ) ญี่ปุ่นก็ไม่ทิ้ง ซาอุดีอาระเบีย
“ซาอุดีอาระเบีย ได้ตั้งสภาธุรกิจระหว่างสองประเทศ ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯมาไทยไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และจะพยายามให้ได้ 3.5-4 แสนคน จากปีที่แล้ว 1.8 แสนคน ส่วนมูลค่าการค้าไทย-ซาอุฯ จะเพิ่มขึ้นถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าหลักจะเป็นอาหาร ซาอุฯมุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งปีนี้งานไทยเฟคของเราทางซาอุฯจะมีการจัดคณะภายใต้การนำของ หอการค้าซาอุฯจะมาร่วมงานที่ประเทศไทย”
ขณะที่ “เวียดนาม” ปัจจุบันไม่ใช่คู่แข่งเป็นคู่ค้า โดยนายกรัฐมนตรีไทยจะเดินางไปเวียดนามประมาณ มิ.ย. หรือครึ่งปีหลัง โดยมีแผนจะไปเซ็นความร่วมมือ “Comprehensive Strategic Partner” ซึ่งเวียดนามจะยกระดับความร่วมมือกับไทยเป็นพิเศษประเทศแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 5 ในโลก
ส่วนประเทศจีนนั้น หอการค้าไทยทำงานร่วมกับหอการค้าไทย-จีน สถานทูตรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด “จีนกับไทยต้องคบกันไปอีกนาน ตอนนี้จีนเข้ามาลงทุน อย่าไปกลัวจีน เพราะจะเหมือนกับทางญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุน แรก ๆ เรากลัวญี่ปุ่น แต่ตอนหลังคนไทยและคนญี่ปุ่นเป็นพาร์ตเนอร์กันก็สามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาได้ เอาคนของเค้าเข้ามา เรียกว่า เป็น strategy หอการค้าไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลลักษณะนี้อยู่”
พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยเสนอแนวทางการทำงานต่อ “นายปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ ให้จัดทำ “Team Thailand plus” ซึ่งเป็นการเปิดเวทีหารือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่ไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ต้องประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
อย่างที่ เวียดนามได้ทดลองนำร่องใช้แนวทางนี้มา 7 ปี ทุก 2 เดือน ประชุมทีมไทยแลนด์พลัส อัพเดตอุปสรรค โอกาส ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้ท่านปานปรีย์สั่งการให้ประชุมทีมไทยแลนด์พลัส ซึ่งฟิลิปปินส์ทำแล้วได้ผลมาก็คงขยายผลต่อไป
แก้ กม.ต้องรอบคอบ-ปรับโครงสร้างอุตฯ :
นายพจน์ กล่าวว่า ผมเชื่อว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทยสดใส การส่งออกจะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่หรือการอัพสกิลอุตสาหกรรมที่ลงทุนไปแล้ว เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยอยู่แค่ระดับ 2.5 ถึง 3 ภาครัฐจะมีส่วนสำคัญในการวางนโยบายในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม รวมถึงมองหาแนวทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ข้อ 2 จะเป็นเรื่องของกฎระเบียบของโลกเปลี่ยนไปเยอะ หอการค้าก็ต้องตามให้ทัน แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นและจำเป็นต้องดูดี ๆ เรื่องกฎหมายในแง่ของกฎระเบียบของกระทรวงซึ่งบางครั้งเป็นการแก้ไขเพื่อตอบโจทย์ของพรรคการเมือง สุดท้ายจะไปขัดกับกฎระเบียบโลกยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ประมงที่มีการแก้ไข
วาระ 2 เราได้รับสัญญาณจากคู่ค้าต่างประเทศทั้งสหรัฐ EU ว่าถ้าแก้แบบนี้ก็จะกลับไปเหมือนเก่าทางหอการค้าจึงได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล และได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือการเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำทั้งหมดทั้งนำเข้าและส่งออก จึงไม่รู้ว่าเก็บได้อย่างไร เพราะว่าเรื่องนี้จะกลายเป็น ntb และปกติเราส่งออกมากกว่านำเข้า ถ้าเราตั้งกำแพงเรื่องนี้เมื่อไหร่ ประเทศอื่นเขาก็ตั้งขึ้นมาเหมือนกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 เมษายน 2567