ปริศนาสาเหตุที่แท้จริง ทำไม "ฝนตก" คนจึงป่วย เพราะอะไรกันแน่?
In Brief :
เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย กว่า 200 ชนิด จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มที่ลอยอยู่ในอากาศ คือตัวการทำให้คนป่วยง่ายในช่วงหน้าฝน
ในปี 2566 ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว พบผู้ป่วยมากถึง 138,766 ราย อัตราป่วยเพิ่มสูงถึงกว่า 200 รายต่อประชาการแสนราย
ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคอ่อนแอ อาทิ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน
หายร้อนแต่เจอเย็นฉับพลัน 'พายุฤดูร้อน' หอบฝนกระหน่ำมาฝากประเทศไทย แล้วทำไม 'ฝนตก' คนจึงป่วย สาเหตุเพราะอะไรกันแน่?
เมื่อถึง "ฤดูฝน" หลายคนต้องเผชิญกับอาการไม่สบายต่างๆ เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คอแห้ง เจ็บคอ ไอ ปวดหัว อ่อนเพลีย แสบตา คันตา และไข้เล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการของ "ไข้หวัด" ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแปรปรวนนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเราถึงเป็นหวัดง่ายในหน้าฝน? เพราะร่างกายหรือศีรษะเปียกละอองฝน? แต่ทำไมเราจึงไม่เป็นอะไรเวลาที่อาบน้ำสระผมแม้จะเปียกเหมือนกัน?
โดยประเทศไทยมักเจอกับ "พายุฤดูร้อน" ที่มาพร้อมฝนกระหน่ำในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝนซึ่งโดยปกติจะเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม โดยช่วงนี้เองที่เราจะพบคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคต่างๆ ได้ง่ายเป็นพิเศษ
ตัวอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ที่สามารถพบการระบาดได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในปี 2566 นี้ พบผู้ป่วยมากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า เป็นจำนวนผู้ป่วยมากถึง 138,766 ราย อัตราป่วยเพิ่มสูงถึงกว่า 200 รายต่อประชาการแสนราย
หากไม่ใช่เพราะ "ฝน" ที่ทำให้เราไม่สบาย แล้วตัวการที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?
คำตอบคือ เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย กว่า 200 ชนิด จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มซึ่งลอยอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงวันฝนตกและมีลมพัดแรง สิ่งเหล่านี้จะแพร่กระจายออกมาจากการไอ จาม และสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ดังนั้นจึง ไม่ใช่เพราะน้ำหรือน้ำฝน ตัวอย่างเช่นเมืองร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนในพื้นที่เหล่านี้อาบน้ำทุกวันหลายครั้งเป็นเวลานาน แต่กลับไม่พบอัตราการป่วยหวัดสูงผิดปกติ เพราะเหตุผลก็คือ น้ำสะอาดที่ใช้อาบนั้นไม่มีเชื้อโรคมากพอที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในปริมาณมาก
ตัวการสำคัญที่ทำให้เราป่วยหวัดในหน้าฝนนั้น มาจากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศ ซึ่งไวรัสพวกนี้มักจะกระจายตัวได้ดีในสภาพอากาศเย็นชื้น โดยจะถูกพาด้วยกระแสลมและละอองฝนไปในทิศทางต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ลมฝนที่พัดพามาก็จะทำให้ร่างกายหนาวเย็นลง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไวรัสบางชนิดชอบ นอกจากนี้การสัมผัสเชื้อโรคด้วยการเช็ดน้ำมูก ถูตา ผิวหนัง ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่นำเชื้อมาสู่ร่างกาย
เมื่อเราสูดรับเอาละอองเชื้อไวรัสจากอากาศเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ทางจมูกและปาก ไวรัสพวกนี้ก็จะไปคุกคามระบบทางเดินหายใจของเรา จนก่อให้เกิดอาการของไข้หวัดขึ้นมาในที่สุด
นอกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่เชื้อแล้ว ช่วงเวลาที่ร่างกายต้องรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วระหว่างร้อนและเย็น เช่น เมื่อถูกฝนสาดกระหน่ำก็นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้มากขึ้น เพราะในสภาวะร่างกายเย็นลง ประสิทธิภาพการทำงานของระบบป้องกันเชื้อโรคก็จะลดลง ทำให้เชื้อไวรัสสามารถบุกรุกเข้าไปคุกคามร่างกายได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ข้อมูลจาก อ. นพ.ธเนศ แก่นสาร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 7 โรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน ได้แก่
* ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่
* ไข้หวัดธรรมดา อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ
* โรคต่อมทอนซิลอักเสบ ติดเชื้อทางระบบหายใจที่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย
* โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่มักเกิดจากการทานอาหารที่ปนเปื้อน
* โรคเยื่อบุตาอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทำให้ตาแดง มีน้ำตาไหล
* โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะซึ่งแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในฤดูนี้
* โรคฉี่หนู ติดต่อทางบาดแผลและมีน้ำเป็นตัวพาหะ จึงไม่ควรเดินในน้ำขัง โดยเฉพาะในคนที่มีบาดแผล
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงป้องกันตนเองจากละอองไอจามด้วยหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในที่แออัด
สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคอ่อนแอ อาทิ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน เนื่องจากหากติดเชื้อ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้
ดังนั้น เมื่อเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคในช่วงหน้าฝนแล้ว แทนที่จะกังวลกับการเปียกฝนหรือน้ำ เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสมสำหรับการมาเยือนของเชื้อไวรัสตัวร้ายในหน้าฝนนี้
ที่มา climatecenterthailand.co
วันที่ 7 พฤษภาคม 2567