เวียดนามเลื่อนประชุม จนท.สหภาพยุโรปเตรียมพร้อมรับปูตินเยือนฮานอย
รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามทำให้สหภาพยุโรปไม่พอใจจากการเลื่อนการประชุมในสัปดาห์หน้ากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคว่ำบาตรรัสเซีย ก่อนที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะเยือนกรุงฮานอย
เวียดนามมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลางในความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ พวกเขางดเว้นจากการประณามการโจมตีของรัสเซียต่อยูเครน จุดยืนที่ประเทศตะวันตกมองว่าใกล้ชิดกับเครมลินมากเกินไป
เดวิด โอซัลลิแวน ผู้แทนพิเศษเพื่อการดำเนินการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปกำลังจะเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสัปดาห์หน้า และมีแผนที่จะพบกับเจ้าหน้าที่เวียดนามในวันที่ 13-14 พ.ค. แต่ฮานอยได้ขอเลื่อนการประชุมดังกล่าวออกไป ‘เนื่องจากผู้นำยุ่งเกินกว่าที่จะพบกับเขา’ นักการทูตคนหนึ่งที่ทราบโดยตรงเกี่ยวกับสถานการณ์ กล่าว
นักการทูตอีก 3 คน ยืนยันการเลื่อนการเยือนนี้ โดยหนึ่งในนั้นกล่าวว่า เวียดนามเสนอวันใหม่ในเดือน ก.ค.
นักการทูต 2 คน และบุคคลที่คุ้นเคยกับการสนทนาอ้างว่าการเลื่อนประชุมเกี่ยวข้องกับการเตรียมการสำหรับการเยือนที่อาจเกิดขึ้นของปูติน
ไม่นานหลังจากรอยเตอร์รายงานเรื่องนี้ คณะผู้แทนทางการทูตของสหภาพยุโรปในกรุงฮานอยได้ออกคำแถลงอธิบายการเลื่อนการประชุมว่า ‘น่าผิดหวัง’ และกล่าวว่ากำลังหารือเกี่ยวกับการกำหนดวันใหม่กับทางการเวียดนาม
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามกล่าวว่า ฮานอยกำลังหารือกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการกำหนดวันประชุม และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ปูตินจะเยือนประเทศ เธอกล่าวว่าข้อมูลจะถูกแบ่งปันในเวลาที่เหมาะสม
ด้านสถานทูตรัสเซียในกรุงฮานอยไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์
ผู้นำเวียดนามได้เชิญปูตินเยือนฮานอยหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกจะออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซียในเดือน มี.ค.2566 จากข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
แต่เวียดนามไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำเวียดนามได้รับรายงานว่า ปูตินตอบรับคำเชิญแล้ว และว่าวันที่สำหรับการเยือนจะตัดสินใจหลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ของเขา ในวันที่ 7 พ.ค. ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนาม โดยปูตินเยือนเวียดนามครั้งสุดท้ายในปี 2560
รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้เวียดนาม และยังมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาประโยชน์จากแหล่งก๊าซของเวียดนามในทะเลจีนใต้ น่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิว่าเป็นของตน
สหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับมอสโกอย่างกว้างขวางจากสงครามในยูเครน
งานของโอซัลลิแวนเกี่ยวข้องกับการทำให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ จะไม่ช่วยเหลือรัสเซียหรือรัฐอื่นๆ ที่ถูกคว่ำบาตรเพื่อเลี่ยงมาตรการลงโทษของสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น จากการจัดหาสินค้าที่ใช้ได้สองทางให้มอสโกซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำสงครามกับยูเครนได้
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าเวียดนามเสนอความช่วยเหลือใดๆ ต่อรัสเซีย สำหรับสิ่งที่เครมลินเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน
นักการทูตบางคนกล่าวว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจพบการค้าระหว่างเวียดนามและรัสเซียที่อาจละเมิดมาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกี่ยวข้องกับชิปหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดเล็กอื่นๆ
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 12 พฤษภาคม 2567