จีนประกาศปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 10 มาตรการ ก่อนเจรจาทรัมป์
จีนปฏิรูปโครงสร้าง ประกาศ 10 มาตรการเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นอุตสาหกรรมสำคัญ เทค ยานยนต์ ภาคบริการ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ และหนุนการบริโภค
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า จีนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 และยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมรวมเป็น 10 มาตรการ นับเป็นความพยายามในการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญกับสงครามการค้ากับทางสหรัฐ
พาน กงเซิ่ง (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารกลางประชาชนจีน (PBOC) แถลงในวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 ว่ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะ 7 วันลงเหลือ 1.4% จากระดับ 1.5% และลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องลง 0.50 จุดเปอร์เซ็นต์
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นไม่นาน หลังจีนเผยว่าจะร่วมเจรจาการค้ากับทางสหรัฐในวันที่ 10-11 พฤษภาคมนี้ นับเป็นครั้งแรกหลังโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศขึ้นภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บกับจีนเป็น 145% และเป็นการแถลงร่วมกับอู่ ชิง (Wu Qing) ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) และหลี่ เยวี๋ยนเจ๋อ (Li Yunze) หัวหน้าสำนักบริหารและกำกับดูแลการเงินแห่งชาติจีน (NAFR)
พาน กงเซิ่ง ระบุในแถลงการณ์อีกฉบับว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 วันจะมีผลในวันที่ 8 พฤษภาคม ขณะที่การปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำจะมีผลในสัปดาห์ต่อจากนี้
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นับเป็นหนึ่งในมาตรการใหญ่ทั้ง 10 มาตรการ ที่อาศัยโครงการ Re-lending และสินเชื่อจากธนาคารนโยบาย (Policy Bank) เป็นหลัก โดยพาน กงเซิ่ง กล่าวว่า การปรับลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องครั้งล่าสุด จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระยะยาวได้มากถึง 1 ล้านล้านหยวน (ราว 4.53 ล้านล้านบาท)
มาตรการอื่น ๆ ที่ประกาศโดยพาน กงเซิ่ง มีดังนี้ :
(1)ลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง ให้กับธุรกิจบริการทางการเงินสำหรับยานยนต์ และธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) ลงเป็น 0% จาก 5%
(2)ลดอัตราดอกเบี้ย Re-lending ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และธุรกรรมให้กู้ยืมแบบมีข้อผูกมัด (Pledged Supplementary Lending) แก่ธนาคารนโยบายลง 0.25 จุดเปอร์เซ็นต์
ลดอัตราดอกเบี้ยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อยู่อาศัยลง 0.25 จุดเปอร์เซ็นต์
(3)เพิ่มโควตาสินเชื่อ Re-lending ให้แก่ภาคส่วนเทคโนโลยี จาก 300,000 ล้านหยวน เป็น 800,000 ล้านหยวน เพื่อสนับสนุนโครงการแลกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
(4)ตั้งสินเชื่อ 500,000 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนการบริโภคในภาคบริการ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ
(5)อนุมัติขยายสินเชื่อ Re-lending สำหรับภาคการเกษตร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีก 300,000 ล้านหยวน
(6)สนับสนุนตลาดหุ้นทั้งสอง รวมโควตาเป็น 800,000 ล้านหยวน
(7)สร้างเครื่องมือกระจายความเสี่ยงหนี้ เพื่อเปิดทางให้ธนาคารกลางสามารถตั้งกองทุน Re-lending เพื่อกระตุ้นการซื้อหุ้นกู้บริษัทเทคโนโลยี
ชารู ชานานา (Charu Chanana) หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์การลงทุนของแซกโซ มาร์เก็ตส์ (Saxo Markets) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่มาตรการผ่อนคลายทั่วไป แต่รัฐบาลจีนกำลังวางรากฐานสำคัญ ที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟู ปฏิรูป และตอบโต้ ไม่เพียงแค่เสริมสภาพคล่องสินเชื่อเท่านั้น รัฐบาลจีนมุ่งเน้นไปยังอุตสาหกรรมเทค การบริโภค และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งส่งสัญญาณถึงการสนับสนุนโครงสร้างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การตัดสินใจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายกำลังเร่งสนับสนุนเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญสงครามการค้า โดยพาน กงเซิ่ง เน้นย้ำว่า ธนาคารกลางประชาชนจีนเตรียมใช้แนวนโยบายการเงินแบบขยายตัวระดับกลาง ซึ่งจะขยายสภาพคล่องและรับรองเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ และการปรับลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง ช่วยรักษาเสถียรภาพหนี้สินของธนาคารได้อย่างมาก
ธนาคารกลางประชาชนจีนลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องครั้งก่อนในเดือนกันยายน 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางประชาชนจีนออกมาตรการกระตุ้นชุดใหญ่เพื่อฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก วิเคราะห์ว่า “นโยบายการเงินครั้งล่าสุดแข็งแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งสัญญาณว่าผู้กำหนดนโยบายต้องการเสริมความเชื่อมั่นและการเติบโต มาตรการหลายอย่างของธนาคารกลางช่วยให้เศรษฐกิจมีความราบรื่นขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการคลังตามมา เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”
หลี่ เยวี๋ยนเจ๋อ (Li Yunze) หัวหน้าสำนักบริหารและกำกับดูแลการเงินแห่งชาติจีน (NAFR) กล่าวในงานแถลงเดียวกันว่า จะออกมาตรการช่วยรักษาเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ขยายเพดานการลงทุนในหุ้นให้บริษัทประกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพและการฟื้นตัวของตลาดทุน นอกจากนี้ยังเตรียมออกมาตรการหนุนเงินทุนสำหรับบริษัทเอกชนขนาดเล็ก ธนาคารหลายแห่งจะได้รับอนุญาตให้ตั้งหน่วยลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินมากขึ้น เพื่อเสริมการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี
ฟรานเซส เฉิง (Frances Cheung) กรรมการผู้จัดการและฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ย ที่โอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป ลิมิเต็ด. (Oversea-Chinese Banking Corp Limited.) กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวที่ประกาศมา แสดงถึงความพยายามที่สอดคล้องกัน ไม่เพียงรักษาสภาพคล่องเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นตลาดและเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย ช่วยให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นพร้อมเผชิญหน้ามาตรการภาษีจากทางสหรัฐ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568