คาด "ไทย" เสียหายหนัก 8 แสนล้านบาท จากมาตรการภาษีทรัมป์
ภาษีทรัมป์สร้างแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ เกษตรกรรม และแปรรูปอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 8 แสนล้านบาท
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า นโยบายภาษีทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจสำคัญของไทย ตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ แปรรูปอาหาร ไปจนถึงเกษตรกรรม และอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง “800,000 ล้านบาท” ตามการประเมินของประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
การที่ไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจากับสหรัฐ ภายในช่วงเวลา 90 วันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศผ่อนผันให้ก่อนมาตรการมีผลบังคับเต็มรูปแบบ
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจไทยประเมินว่าอัตราภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์จะใช้นั้น น่าจะอยู่ในช่วง 10% ถึง 15% ซึ่งคำนวณจากส่วนต่างภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่าระหว่าง 200,000-300,000 ล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม กรอบภาษีที่สหรัฐ ประกาศใช้นั้นไม่ได้อิงเพียงแค่การคำนวณแบบตอบโต้แบบเท่าเทียมเท่านั้น” เกรียงไกร กล่าว “แต่วิธีการที่ใช้ยังรวมถึงอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ขัดขวางการค้า โดยไม่อยู่ในรูปของภาษีโดยตรงด้วย”
เขาเสริมว่า “จากการประเมินอย่างง่ายโดยใช้อัตราทวีคูณ ความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจสูงถึง 700,000-800,000 ล้านบาท” พร้อมระบุว่า ยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เชิงลึก และแจกแจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบโดยรวมอย่างครบถ้วน
สำหรับไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค การส่งออก มีสัดส่วนมากกว่า 60% จีดีพี โดยสหรัฐเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านดอลลาร์
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังระบุว่า มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย และมีแรงงานอยู่ในระบบราว 700,000 คน
เขากล่าวว่า สหรัฐเป็นปลายทางส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยมากที่สุด ดังนั้น หากมีการบังคับใช้ภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจริง ก็มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนี้ และอาจผลักดันให้หลายบริษัท ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ต้องควบรวม ปรับลดขนาดธุรกิจ หรือแม้กระทั่งปิดกิจการ
“เอสเอ็มอีจำนวนมากในห่วงโซ่อุปทานต้องลดขนาดการดำเนินงานลง” เกรียงไกรกล่าว พร้อมเตือนว่า มาตรการขึ้นภาษีใหม่ของสหรัฐ จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ “หากขาดความสามารถในการต้านทานทางการเงิน ผู้ผลิตบางรายก็อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการปิดกิจการ”
นอกจากนี้ เกรียงไกรยังกล่าวว่า “ภาคธุรกิจแปรรูปอาหาร และอาหารทะเล” ของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐ อาจได้รับผลกระทบสำคัญจากมาตรการใหม่เช่นกัน
ในทางกลับกัน เขาระบุว่า อุตสาหกรรม “รองเท้า” ของไทยอาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เพราะคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่ามาก ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไทยได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดสหรัฐ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 พฤษภาคม 2568