3 เหตุผล ทำไมการเยือนจีนของ "ปูติน" ครั้งล่าสุด จึงสำคัญกว่าที่ผ่าน ๆ มา
การเยือนจีนของ วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย รอบล่าสุด เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเยือนในวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียกับจีน และเป็นการเยือนประเทศแรกของปูตินหลังรับตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 5 ถือเป็นการเยือนที่มี “นัยสำคัญ” และ “สำคัญ” ต่อทั้งสองฝ่ายมากกว่าการเยือนครั้งที่ผ่านมา ๆ
ในความคาดหวังของปูติน การเยือนครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากที่ทั้งสองประเทศยกระดับความสัมพันธ์เป็น “แบบไร้ขีดจำกัด” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022

การเยือนที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สำคัญ ทำให้การเยือนจีนของปูตินครั้งนี้มีนัยสำคัญและมีความสำคัญกว่าการเยือนครั้งก่อน ๆ อย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก :
เป็นการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย : การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญของทั้งสองประเทศ สหรัฐและพันธมิตรพยายามที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อต้นปี 2022 แม้ว่าจะไม่สามารถโดดเดี่ยวรัสเซียได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า รัสเซียโดดเดี่ยวขึ้นมาก ดังนั้นการมีอีกประเทศมหาอำนาจอย่างจีนเป็นมิตรจึงสำคัญต่อรัสเซียอย่างยิ่ง
การที่ปูตินเยือนจีนในห้วงเวลาที่จีนเพิ่งโดนกดดันจากสหรัฐให้ลดความสนิทสนมและเลิกสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซีย ซึ่งอาจสร้างความลำบากใจให้จีนได้ ก็ยิ่งเป็นการพิสูจน์ความสัมพันธ์ แสดงให้สหรัฐและชาติตะวันตกเห็นว่าความสัมพันธ์ของรัสเซียกับจีนยังแน่นแฟ้นดี
ประการที่สอง :
จีนได้ตอบโต้สหรัฐ : จีนใช้การเป็นมิตรกับรัสเซียและการเปิดบ้านต้อนรับปูตินเวลานี้ตอบโต้สหรัฐ
แม้ว่าในด้านหนึ่งจะมีการวิเคราะห์กันว่า จีนน่าจะต้องการรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับรัสเซีย และการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐ แต่การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนประกาศว่า จะร่วมกับรัสเซีย “ส่งเสริมความเป็นธรรมและความยุติธรรมในโลก” ก็เหมือนเป็นการตอบโต้สหรัฐแบบลอย ๆ
เชลส์ มิชตา (Chels Michta) นักวิจัยจากศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรป (Center for European Policy Analysis : CEPA) ของสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์น่าสนใจและเห็นภาพชัดขึ้นว่า จีนกับรัสเซียเป็นพันธมิตรกันไม่ใช่เพราะว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ร่วมกัน แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาแน่นแฟ้นกันด้วยเหตุผลเหมือนในสุภาษิตที่ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร”
ประการที่สาม :
เป็นการเน้นย้ำถึงการที่จีนถือไพ่เหนือสหรัฐ : แม้ว่าจีนจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย แต่สำหรับเรื่องสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จีนก็ไม่เคยยอมรับว่าสนับสนุนรัสเซีย และจีนก็พยายามแสดงให้เห็นว่า “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและประเทศตะวันตกอื่น ๆ
ตอนนี้จีนถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐ เพราะสหรัฐและพันธมิตรต่างก็เกรงว่าจีนจะเลือกข้างรัสเซีย สหรัฐและพันธมิตรจึงต้องตระหนักว่า หากกดดันจีนมากเกินไปก็จะเป็นการผลักให้จีนเลือกข้างรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นจีนจึงมีแนวโน้มที่จะได้สิ่งที่จีนต้องการ คือ “ความเป็นมิตรมากขึ้น” จากตะวันตก
อาร์เตียม ลูคิน (Artyom Lukin) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น เฟดเดอรัล (Far Eastern Federal) ของรัสเซียวิเคราะห์ว่า จุดยืนของจีนที่ไม่อยากเป็นพันธมิตรกับรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หากสหรัฐยังยกระดับนโยบายควบคุมจีนต่อไป และหากจีนเห็นว่าการประนีประนอมกับสหรัฐนั้นเป็นไปไม่ได้ จีนก็อาจจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเต็มรูปแบบกับรัสเซีย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567