อนาคตสัมพันธ์ "ไทย-อินเดีย" ผ่านมุมมอง "นักเรียนไทยในชัยปุระ" | World Wide View
มองอนาคตความสัมพันธ์ "ไทย-อินเดีย" ผ่านสายตานักเรียนไทยในชัยปุระ ไทยกับอินเดียมีความใกล้เคียงกันทั้งในด้านวัฒนธรรมและประเพณีหลายอย่าง ไทยจึงควรจะใช้โอกาสนี้ นำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกับอินเดีย
หลายท่านอาจจะคุ้นกับภาพของอินเดียตามที่เห็นกันในภาพยนตร์และสื่อต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่า อารยธรรมอินเดียที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุนั้น เป็นหนึ่งในอารยธรรมของมนุษย์ช่วงแรก ๆ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก?
ในปัจจุบัน อินเดียหรือที่เรารู้จักกันด้วยชื่อ “ดินแดนภารตะ” เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่น่าค้นหา

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของอินเดียกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร กลายเป็นแหล่ง
อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และตลาดที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่ปี และเต็มไปด้วยประชากรวัยทำงานหนุ่มสาว สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียที่น่าประทับใจ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในแง่มุมของธุรกิจ รวมถึงโอกาสทางการค้าขายและลงทุน
บทความนี้จะบอกเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนมัธยมต้นอยู่ที่โรงเรียนประจำนานาชาติแห่งหนึ่ง เป็นเวลาเกือบสี่ปีที่เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ซึ่งขณะนี้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนไทย
เมื่อครั้งผมจบการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่หกที่ประเทศไทยและได้เดินทางไปเรียนต่อที่อินเดีย สิ่งแรกที่ผมยังจำได้ดี คือ การที่เพื่อนชาวอินเดียหลายคนเข้ามาทักทายเป็นภาษาไทย และเล่าว่าเกิดที่ประเทศไทยก่อนที่จะย้ายกลับไปอินเดีย ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผมไม่เคยทราบมาก่อนว่า จะมีชาวอินเดียอาศัยและประกอบกิจการค้าขายอยู่ที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ผมมีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในเพื่อนร่วมห้องเรียนชาวอินเดียชื่อ คานัน ซึ่งปัจจุบัน เขาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ทำให้ทราบว่ามีชาวอินเดียอีกจำนวนมากที่สนใจภาคธุรกิจของไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงด้านอัญมณี (ทับทิมและไพลิน) และไทยกับอินเดียก็มีความใกล้เคียงกันทั้งในด้านวัฒนธรรมและประเพณี อาทิ เทศกาลสงกรานต์ของไทยที่มีความคล้ายคลึงกับเทศกาล Holi (โฮลี) ของอินเดีย
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่ค้าขายของชาวอินเดีย อีกทั้งการที่หนึ่งในสายการบินของไทยเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังชัยปุระนั้น สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ประเทศไทยสามารถสร้างประโยชน์และใช้โอกาสจากการกระชับสัมพันธไมตรีที่มีมาอย่างยาวนานกับอินเดีย ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าขาย การลงทุน และการบูรณาการทำงานของหน่วยงานรัฐบาล รวมไปถึงภาคเอกชน เนื่องจากอินเดียได้แสดงให้โลกเห็นมาตลอดว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับและสนับสนุนเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นที่จับตามองของโลก (โดย ณนันท์ รัตนชัยสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน กองประมวลและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 กรกฏาคม 2567