อินโดฯ ฉลอง ฮุนได-แอลจี เปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในอาเซียน
ฮุนได-แอลจี จับมือเปิดโรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งแรกในอินโดนีเซีย เฟสแรกทุ่มทุน 1,200 ล้านเหรียญ อีกก้าวสำคัญหนุนอินโดฯสู่การเป็นฮับอีวีโลก
วันที่ 3 กรกฎาคม 2024 นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า โรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกในอินโดนีเซียเปิดแล้วในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2024 นับเป็นหมุดหมายสำคัญในความพยายามของประเทศอินโดนีเซียที่จะสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและเคยประกาศไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่เมืองคาราวัง (Karawang) จังหวัดชวาตะวันตก ถูกพัฒนาโดยเอชแอลไอ กรีน เพาเวอร์ (HLI Green Power) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง แอลจี เอเนอร์จี โซลูชั่น (LG Energy Solution) บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่จากเกาหลีใต้ และผู้ผลิตรถยนต์ฮุนได มอเตอร์ (Hyundai Motor) จากเกาหลีใต้
นายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย (Bahlil Lahadalia) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนอินโดนีเซีย กล่าวในพิธีเปิดโรงงานว่า การก่อสร้างโรงงานซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2021 มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์ มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่อีวีได้ 10 จิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี หรือรองรับรถอีวีได้กว่า 1.5 แสนคัน
นอกจากนี้ โรงงานนี้ยังวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ในเฟสที่ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
โดยทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนร่วมระหว่างฮุนไดและแอลจี ซึ่งมีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับพัฒนาห่วงโซ่อุปทานรถยนต์อีวีในอินโดนีเซีย
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียกล่าวว่า โรงงานแบตเตอรี่อีวีแห่งนี้จะช่วยทำให้อินโดนีเซียเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อีวีโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน ยังยกย่องอีกด้วยว่า โรงงานดังกล่าวจะผลิตแบตเตอรี่ประเภทที่ยังไม่มีการผลิตในอาเซียนมาก่อน และมั่นใจว่าอินโดนีเซียจะเป็นชาติแรกที่สร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเซลล์แบตเตอรี่ได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ ในฐานะผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก อินโดนีเซียตั้งใจก้าวขึ้นเป็นฮับด้านอีวี พร้อมตั้งเป้าผลิตรถยนต์อีวีให้ได้ถึง 600,000 คันต่อปีได้ภายในปี 2030
และแม้อินโดนีเซียมีโรงถลุงแร่นิกเกิลอยู่หลายแห่งในประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วถูกควบคุมโดยบริษัทจีน ที่สำคัญ อินโดนีเซียมีข้อตกลงกับบริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง CATL ซึ่งโครงการก็มีความคืบหน้าที่เห็นผลค่อนข้างช้า
นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังมองหาการสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ไฮบริด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลิตโดยผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 กรกฏาคม 2567