"จีน" เลือดออกไม่หยุด นักลงทุนต่างชาติถอนทุนออกจากจีนสูงเป็นประวัติการณ์
จีนเผยไตรมาส 2 ต่างชาติดึงทุนไหลออกเกือบ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จ่อทำตัวเลขรวมทั้งปีเป็น "ไหลออกสุทธิ" ขณะที่จีนเองขนเงินออกไปลงทุนต่างชาติทุบสถิติ สะท้อนสัญญาณลบในบ้าน 'ซึมยาว'
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนต่างชาติพากันถอนเงินออกจาก “จีน” ในไตรมาส 2 ปีนี้ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอาจสะท้อนถึงความวิตกอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศอันดับสองของโลกนี้
ข้อมูลจากสำนักงานปริวรรตเงินตราต่างประเทศของจีน (SAFE) ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ภาระผูกพันจากการลงทุนโดยตรงของจีนในดุลการชำระเงินไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย. ที่ผ่านมา ลดลงเกือบ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (เกือบ 5.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการไหลออกสูงสุดเท่าที่เคยมีมาของจีน และเป็นครั้งที่สองแล้วที่ตัวเลขดังกล่าวติดลบ
ตัวเลขดังกล่าวทำให้การลงทุนโดยตรงของจีนช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีมูลค่าลดลงประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ โดยหากแนวโน้มการลดลงเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าอาจทำให้จีนเผชิญ 'การไหลออกสุทธิ' รายปีเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นอย่างน้อย
ขณะเดียวกัน "การลงทุนในต่างประเทศของจีน" ยังทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ด้วย โดยบริษัทต่างๆ ขนเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่สอง เพิ่มขึ้นกว่า 80% จาก 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในจีนลดลงอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.44 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในจีน ส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติบางแห่งถอนตัวหรือลดการลงทุนลง
การลดลงดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นแม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งพยายามดึงดูด และรักษาการลงทุนจากต่างชาติ โดยรัฐบาลพยายามแสดงให้เห็นว่าจีนยังคงเปิดรับ และเป็นประเทศน่าสนใจสำหรับธุรกิจต่างชาติ โดยหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามา
จุดน่ากังวลคือ ตัวเลขก่อนหน้านี้จากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า FDI ในจีนช่วงครึ่งปีแรกนี้มีมูลค่า “ต่ำที่สุด” นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดโควิด-19 ในปี 2563
ข้อมูลยังแสดงให้เห็น ความผิดปกติในการวัดดุลการค้าเกินดุลของจีนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 87,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สอง และสูงถึงเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรก ช่องว่างดังกล่าวถูกเน้นย้ำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐเมื่อต้นปีนี้ ในรายงานที่เรียกร้องให้จีนชี้แจงว่าเหตุใดตัวเลขจึงแตกต่างกันมาก
ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ความแตกต่างดังกล่าวดูเหมือนจะเกิดจากวิธีการที่แตกต่างกันในการบันทึกการส่งออก และนำเข้าสินค้าเป็นหลัก โดยช่องว่างดังกล่าวขยายตัวขึ้น หลังจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ทางการจีนใช้เมื่อสองปีที่แล้ว และยังได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าบริษัทต่างชาติในเขตสินค้าทัณฑ์บนเมื่อเร็วๆ นี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 สิงหาคม 2567