นโยบายทรัมป์จะทำเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย สถาบันวิจัยดังอังกฤษฟันธง
ตั้งแต่เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2024 ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยได้ลดน้อยลงไปจนแทบไม่เหลือแล้ว เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐแสดงความแข็งแกร่งให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเปลี่ยนเกมในปี 2025 จะอยู่ที่ว่า นโยบายที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอไว้นั้นจะถูกนำไปใช้ทั้งหมดหรือไม่ ถ้านโยบายของทรัมป์ถูกนำไปใช้มากก็มีความเสี่ยงมากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (National Institute of Economic and Social Research : NIESR) เผยแพร่บทวิเคราะห์ใหม่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ชี้ว่า หากนโยบายที่ทรัมป์เสนอถูกนำไปใช้จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการตัดลดงบประมาณ และนโยบายการเนรเทศผู้อพยพที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ
บทวิเคราะห์นี้พิจารณาถึงผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ที่ทรัมป์เสนอไว้ ทั้งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ (ตัดลดงบประมาณ) การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า การเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย และการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ รวมไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากสูญเสียความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
NIESR คาดการณ์ว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดที่มีการใช้ทุกนโยบายที่ทรัมป์เสนอ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2-3% ในปี 2025 ซึ่งจะถือว่าเป็นการตกต่ำลงครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะโตได้ 2.8%
นโยบายที่จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากที่สุด คือ นโยบายต่อต้านผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน เพราะกลุ่มผู้อพยพมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสหรัฐ
บทวิเคราะห์ดังกล่าวที่เขียนโดย พอล มอร์ทิเมอร์-ลี (Paul Mortimer-Lee) นักเศรษฐศาสตร์ของ NIESR ระบุว่า การเนรเทศผู้อพยพออกจากประเทศจะทำให้จีดีพีสหรัฐลดลงไปเกือบ 1.5% ในปีแรก และเนื่องจากการเนรเทศคน 20 ล้านคนจะต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นจึงจะส่งผลให้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจลดลงต่อไปอีกหลายปี
การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีผู้อพยพทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น เกษตรกรรม การค้าปลีก และการก่อสร้าง มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ค่าแรงพุ่งสูงขึ้น และเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ผนวกกับแรงกระตุ้นจากการขึ้นภาษีศุลกากรด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ของ NIESR ประเมินว่า นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1-1.50% ในปีแรก ขณะที่การเนรเทศผู้อพยพจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นปีละ 0.25-0.50% นับตั้งแต่ปี 2025 ต่อเนื่องไปอีกหลายปี คาดว่าทั้งสองปัจจัยรวมกันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.25-2.00% ในปีแรก แล้วเพิ่มขึ้นปีละ 0.25-0.50%
ตามกลไกโดยทั่วไป เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่พอล มอร์ทิเมอร์-ลี จาก NIESR คาดว่าทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวไม่ให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น แรงกระแทกจากนโยบายของทรัมป์จึงจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จนอาจจะสูงถึง 7% หรือ 8% ภายในปี 2027
NISER คาดว่า หากเฟดใช้นโยบายที่ผ่อนปรนมากขึ้นภายใต้อิทธิพลของประธานาธิบดีทรัมป์ ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนลงอย่างมาก และประเทศอื่น ๆ น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ดังนั้น นโยบายการเงินทั่วโลกจะผ่อนคลายลง และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงขึ้น
NIESR เตือนด้วยว่า เศรษฐกิจส่วนอื่น ๆ ของโลกก็จะเติบโตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในสหรัฐอาจส่งคลื่นกระแทกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน เม็กซิโก แคนาดา และเยอรมนี มีแนวโน้มจะต้องเผชิญความยากลำบากมากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันกับสหรัฐอย่างสูง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 ธันวาคม 2567