ความเห็นนักวิเคราะห์ หลังฮอนด้า-นิสสันจ่อควบรวมกิจการ
ความเห็นนักวิเคราะห์ หลังฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และนิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ประกาศเตรียมเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม โดยจะเป็นการดำเนินงานในรูปแบบโฮลดิ้ง (บริษัทที่ถือหุ้นในกิจการอื่นเป็นหลัก) ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เร็ว ๆ นี้
ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” เคยรายงานการประกาศลดต้นทุนของนิสสัน มอเตอร์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนิสสันเตรียมเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน และจะลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% ทั้งยังปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานปีงบการเงินปัจจุบัน (เมษายน 2024 ถึงมีนาคม 2025) ลงราว 70% อีกด้วย
ซึ่งการควบรวมดังกล่าว อาจช่วยพลิกฟื้นนิสสันจากวิกฤตการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยรอยเตอร์ (Reuters) ได้รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์ ดังนี้
ซันชิโร่ ฟุคาโอะ (Sanshiro Fukao) :
นักวิจัยบริหารจากสถาบันวิจัยอิโตชู (ITOCHU Research Institute) กล่าวว่า ดีลดังกล่าวถือเป็นการอุ้มนิสสัน อย่างไรก็ตาม ฮอนด้าเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับความสำเร็จในอดีต เนื่องจากกระแสเงินสด (cash flow) ของฮอนด้าเตรียมเสื่อมค่าลงในปี 2025 และรถยนต์ EV ของฮอนด้าก็ไม่ได้ทำรายได้มากเท่าที่ควร ฮอนด้าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งอาจต้องแยกธุรกิจมอเตอร์ไซค์ออกจากบริษัทแม่ และสร้างฐานการเงินที่แข็งแรงจากเครื่องยนต์ นับเป็นข้อดี หากการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง จะทำให้ฮอนด้าเปลี่ยนแปลงบริษัทง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากทั้งสองบริษัทมองไม่เห็นวิธีแก้ปัญหาอื่นแล้วนอกจากต้องควบรวม ฟุคาโอะไม่คิดว่านิสสันและฮอนด้าจะสามารถเอาตัวรอดจากการแข่งขันค่ายรถจีนได้ เพราะในปัจจุบันค่ายรถยนต์ไม่สามารถอาศัยการประหยัดขนาด (economies of scale) จากการควบรวม และใช้เวลาสะสมกำไรอีก 5 ปีเพื่อปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่ได้อีกแล้ว
ถัง จิน (Tang Jin) :
หัวหน้านักวิจัยอาวุโส จากธนาคารมิซูโฮะกล่าวว่า ฮอนด้ามีเทคโนโลยีอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นจึงน่าจะมีการต่อต้านจากภายในองค์กรอยู่บ้าง หากต้องควบรวมกับคู่แข่งอย่างนิสสันที่มีเอกลักษณ์ทางเทคโนโลยีต่างออกไป
ฮอนด้าไม่ได้มีทรัพยากรสำหรับบริหารที่เหลือเฟือ เนื่องจากต้องเผชิญความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่เครื่องยนต์ไฟฟ้า ด้วยการผันเงินจากเครื่องยนต์ไฮบริดและมอเตอร์ไซค์ ขณะที่นิสสันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องควบรวม
อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากฮอนด้าและนิสสันไม่สามารถตัดสินใจและดำเนินงานร่วมกันได้ดีพอ ทั้งสองอาจไม่สามารถตามการเปลี่ยนแปลงได้ทัน
เซอิจิ สุงิอุระ (Seiji Sugiura) :
นักวิเคราะห์อาวุโสจากโทไค โตเกียว อินเทลลิเจนซ์ แลบอราโทรี (Tokai Tokyo Intelligence Laboratory) ภายในองค์กรฮอนด้าไม่ได้มีความคิดเห็นต่อการควบรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเท่าไรนัก เนื่องจากกิจการมอเตอร์ไซค์มีผลประกอบการที่ดี แม้รถยนต์จะมีอุปสรรคเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
ในระยะกลางถึงระยะยาว นับเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรมรถญี่ปุ่นที่จะมีคู่แข่งมาต่อกรกับโตโยต้า การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรถญี่ปุ่นที่ต้องแข่งขันกับค่ายรถจีนอื่น ๆ รวมถึงเทสลา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 18 ธันวาคม 2567