พันธมิตรเอเชียจับตา "ทรัมป์" รักษาหรือทิ้ง สิ่งที่ "ไบเดน" ซ่อมสร้าง
การกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ภายใต้สโลแกนเดิมคือ “อเมริกาต้องมาก่อน” เป็นที่รับรู้กันว่าไม่ใช่ “ข่าวดี” ของโลกแน่ ๆ เนื่องจากทรัมป์แสดงออกซึ่งความไม่เป็นมิตรต่อทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นพันธมิตรหรือไม่ใช่ก็ตาม อย่างน้อยทรัมป์ประกาศว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ
สำหรับพันธมิตรของสหรัฐในเอเชียนั้น ดูเหมือนการกลับมาของทรัมป์ในรอบนี้ที่มาพร้อมกับ “ความไม่แน่นอน” เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ย่ำแย่มาก ๆ เพราะจีนเองกำลังเพิ่มความแข็งกร้าวในการอ้างสิทธิในพื้นที่ทะเลจีนใต้และเกาะไต้หวัน ปรับปรุงศักยภาพทางทหารและอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ส่วนเกาหลีเหนือก็ประกาศกร้าวทุกวันว่าพร้อมจะทำสงครามกับศัตรู และที่สำคัญทั้งสองประเทศเพิ่มระดับการเอียงไปหารัสเซียมากขึ้น
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐให้การสนับสนุนด้าน “ความมั่นคง” แก่พันธมิตรในเอเชีย มีการส่งกำลังทหารมาประจำการในภูมิภาคนี้มากกว่าที่ใดในโลก และพร้อมจะช่วยเหลือหากถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ซึ่งในสมัยของรัฐบาล “โจ ไบเดน” ได้สนับสนุนพันธมิตรเหล่านี้และตลอด 4 ปีก็ได้พยายามสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรในเอเชียให้เข้มแข็ง
แต่เมื่อทรัมป์กำลังจะกลับมา พร้อมกับประกาศว่าเขาต่อต้านพันธมิตรที่เอาแต่ประโยชน์ แต่กลับไม่อยากเสียอะไร และไม่ยอมเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมให้เพียงพอเพื่อปกป้องตัวเอง และเอียงเข้าหาเผด็จการ เขาก็จะไม่ช่วยเหลือ ก็ทำให้พันธมิตรในเอเชียตั้งมือพร้อมรับท่าทีของทรัมป์
บรรดาผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เกิดคำถามหลายอย่างขึ้นในใจของพันธมิตรสหรัฐในเอเชีย นั่นก็คือ ทรัมป์จะขอให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมมากกว่าที่พวกเขาสามารถจ่ายหรือไม่ หรือทรัมป์จะใช้มาตรการสุดขั้วด้วยการถอนทหารออกไปทั้งหมดหรือไม่ หากประเทศเหล่านี้ไม่เพิ่มงบฯ หรือทรัมป์จะทำข้อตกลงกับจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ของพันธมิตรสหรัฐหรือไม่
ยิ่งใกล้วันสาบานตนเข้ามาในเดือนมกราคมนี้ รัฐบาลทั่วเอเชียยิ่งอยากรู้มากขึ้นว่าทรัมป์จะจัดการความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับพันธมิตรและศัตรูอย่างไร เพราะในสายตาของหลายคนในรัฐบาลสหรัฐและเอเชีย เห็นว่าพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐ มีความจำเป็นมากขึ้นท่ามกลางภาวะที่ความสัมพันธ์ในภูมิภาคขัดแย้งกันมากขึ้นดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีท่าทีของจีน หรือเกาหลีเหนือ
แซม ร็อกเกวีน ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ สถาบันโลวี ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ชี้ว่า ความสำคัญอันดับแรกของทรัมป์มุ่งเน้นอย่างมากไปที่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจะต้องไม่พ่ายแพ้ให้กับจีน แต่แทบไม่มีสัญญาณว่าทรัมป์ให้ความสนใจลึกซึ้งในด้านการทหารหรือกลยุทธ์ที่จะสร้างสมดุลในเอเชียตะวันออก
ทรัมป์อาจให้ความสนใจเรื่องที่สหรัฐต้องมีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องสหรัฐ แต่ไม่ได้มีความคิดว่าพลังอำนาจของสหรัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หรือทดแทนไม่ได้ในระดับโลกอย่างที่สหรัฐเคยแสดงบทบาทมานาน
มูราตะ โคจิ อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโดชิชะ ญี่ปุ่น เห็นว่าตอนนี้สหรัฐไม่ใช่ประเทศที่พันธมิตรจะพึ่งพาได้ตลอดแบบไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นสิ่งที่ผันแปรมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมญี่ปุ่นต้องขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงนอกเหนือไปจากสหรัฐ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเพิ่มความเห็นหุ้นส่วนกับยุโรปในปัญหาที่เป็นความกังวลร่วมกัน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่มีแนวโน้มที่ทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในแง่การวางกำลังทหารไว้ในภูมิภาคนี้ คงไม่มีการถอนทหารหรือฉีกสัญญาการเป็นพันธมิตร โดยเฉพาะในยามที่สหรัฐมุ่งให้ความสำคัญกับท่าทีของจีนที่ท้าทายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า นโยบายเศรษฐกิจที่แข็งกร้าวต่อจีน อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการสื่อสารด้านการทหารระหว่างสองประเทศ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากันทางทหาร
นอกจากนั้น หากพันธมิตรสหรัฐได้รับผลกระทบจากการที่ทรัมป์จะเก็บภาษีสินค้านำเข้า อาจทำให้พันธมิตรเหล่านี้ของสหรัฐไม่มีทางเลือก นอกจากหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้น
กล่าวได้ว่าในขณะนี้ พันธมิตรสหรัฐในเอเชียต่างเฝ้าจับตาว่า ทรัมป์จะรักษาหรือจะทิ้งสิ่งที่ “โจ ไบเดน” ได้พยายามสร้างและเพิ่มความแข็งแกร่งของพันธมิตรในภูมิภาค
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 มกราคม 2568