คาดอีก 3 ปี อุตฯ-ศก.สังคม-แรงงาน เริ่มรับผลกระทบจากAI แนะ รัฐเพิ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-ICT
คาดอีก 3 ปี AI เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตฯ-ศก.สังคม-แรงงาน แนะรัฐเพิ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล-ICT เพิ่ม
เมื่อวันที่ 12 มกราคม รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัลในปี พ.ศ. 2568-2570 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดมากกว่าเดิมภายใต้การแข่งขันทางเทคโนโลยีของกลุ่ม G-8 รวมทั้งการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน ห่วงโซ่อุปทาน ภาคการผลิตและการพัฒนาและการบริการเทคโนโลยีชั้นสูงจะมีการแยกส่วนมากขึ้นจากการกีดกันและการแข่งขันกัน
ทั้งที่การบูรณาการจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างรุนแรงสามารถแรงกดดันให้สองมหาอำนาจต้องสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น พึ่งพาระหว่างกันน้อยลง เทคโนโลยีขั้นสูงถูกใช้เพื่อกิจการทางด้านความมั่นคงความปลอดภัย การใช้เพื่อการสอดแนม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น มีการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อกิจการป้องกันประเทศและทางการทหารเพิ่มขึ้น อันไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพของโลกและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูงควรถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์โดยรวมของนุษยชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ หากองค์กร ประเทศ หรือ ผู้คน ต้องใช้เงินหรืองบจำนวนมากเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ การป้องกันระบบความมั่นคงทางไซเบอร์จากการถูกโจมตีเพื่อวัตถุประสงค์อันเลวร้าย เพื่อทำลายล้าง ไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ย่อมทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
ยักษ์ใหญ่ไฮเทคโลกผูกขาดเทคโนโลยีทำเหลื่อมล้ำรุนแรงกว่าเดิม :
ระบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกรวมศูนย์และสร้างอำนาจผูกขาดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่กี่บริษัท ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม การพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงเทคโนโลยีต้องกระจายศูนย์มากกว่าเดิม และ ต้องลดอำนาจผูกขาดทางเทคโนโลยีของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค Magnificent 7 (Apple Inc. – AAPL, Microsoft Corp.- MSFT, Amazon Inc. -AMZN, Alphabet – Googl, Meta Platform – META, Nvidia Corp – NVDA) แม้นจะสัญญาณของฟองสบู่ของราคาหุ้นของ 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ในแง่โครงสร้างของตลาดของเศรษฐกิจดิจิทัลและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง 7 บริษัทยังคงมีอำนาจทางนวัตกรรมและการตลาดในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดและระบบเศรษฐกิจ และ ผลประกอบการทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในระดับดีมาก และยังคงมีการลงทุนจำนวนมหาศาลทางด้านนวัตกรรมและการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ
ฉะนั้น อำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดจะอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ ภายใต้การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทไฮเทคของจีนหรือชาติอื่นๆ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งมากยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยีของจีนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางด้านความมั่นคงย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพราะจะถูกกีดกันการเข้าสู่ตลาดด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงและการเมือง
ผลศึกษาพบความก้าวหน้าเทคโนโลยีกระทบศก.-แรงงาน-การศึกษา-กม. ในช่วง3ปีข้างหน้า :
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) ได้ศึกษาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 3 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2568-2570 ที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระบบเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา ระบบกำกับดูแลและกฎหมาย ได้แก่
(1)กลุ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรถยนต์และการขนส่งคมนาคม รถยนต์ EV รถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์บินได้ รถไฟไฮเปอร์ลูปโดยแคปซูลลอยตัวเหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (อาจเป็นระบบขนส่งทางรางที่มีความเร็วมากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม บริษัท Hyperloop One สตาร์ทอัพเจ้าแรกที่นำเสนอแนวคิดระบบรางแห่งอนาคตได้ปิดกิจการไปและ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ถูกโอนย้ายไปยัง DP World บริษัทขนส่งที่รัฐบาลดูไบถือหุ้นใหญ่
(2)Distributed Web-based System ระบบเว็บแบบกระจายศูนย์ เทคโนโลยีนี้จะลดอำนาจผูกขาดทางด้านข้อมูลจากระบบเว็บรวมศูนย์ (Centralized Web-based System) และ สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การติดต่อสื่อสารแบบสื่อสังคมออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการทางเทคโนโลยีในส่วนนี้เกิดจากเทคโนโลยีบล็อคเชน เทคโนโลยีบล็อคเชนเป็นพื้นฐานของการทำงานที่ทำให้เกิดการเงินแบบกระจายศูนย์ (Defi-Finance)
ซึ่งจะแตกต่างจากระบบธนาคารแบบดั้งเดิม เช่น อีเธอเรียม บิทคอย เป็นต้น การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ (DEX) เมื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนในภาคการเงินอย่างคริปโตเคอเรนซีช่วยสามารถทำให้เกิดการทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ได้ ตัดคนกลาง (สถาบันการเงินแบบเดิม) ออกไป ทำให้แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ (CEX) หรือ อย่าง Swarm เป็น ระบบการเก็บรักษาไฟล์ข้อมูลต่างๆแบบกระจายศูนย์ไม่เก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือ อย่าง Mastodon และ Fediverse เป็น สื่อสังคมออนไลน์แบบกระจายศูนย์ โดยเราสามารถ Upload VDOs เก็บรักษาและแชร์กับเพื่อนๆได้โดยเครือข่ายส่วนตัว หรือ OpenBazaar เป็น Distributed Marketplace
(3)Generative AI และ 4. Quantum Computing จะพลิก โฉมโลกและชีวิตมนุษย์มากยิ่งกว่าครั้งใดๆใน ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อเรามีความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต สมาร์ท โฟน พลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ ระบบธุรกิจได้มาก พอสมควร แต่ครั้งน้ีจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมตั้งแต่ อุตสาหกรรมบันเทิง จนถึง การสื่อสาร การเงินและ การออกแบบ ระบบการเมือง การทำงานและวิถีชีวิต ผู้คนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว นอกจากนี้ Generative AI
ทำให้สามารถพัฒนาสู่ AGI (Artificial General Intelligence) ซึ่งเป็น “ปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานเลียนแบบสมองมนุษย์ได้ ไม่ได้เป็นเพียงปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานเฉพาะเจาะจงตามโปรแกรมคำสั่งที่ถูกป้อนให้เท่านั้น การเกิดขึ้นของ Gen AI และ AGI จะทำให้แรงงานทักษะขั้นสูงมีผลิตภาพ (Productivity) และผลผลิตเพิ่มขึ้นหลากหลายและเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้เรา สามารถท˚างานน้อยลง ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม และ Generative AI และ Quantum Computing จะเข้ามา ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้แทบจะทุกสาขาวิชาชีพรวมทั้งสามารถทำงานในสิ่งที่ศักยภาพของสมองมนุษย์มีขีดจำกัด ไม่สามารถทำได้
คาดเอไอเข้ามาทดแทนตลาดแรงงาน50%ทักษะสูงค่าจ้างแพงกระทบมากสุด :
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า Generative AI and AGI จะเปลี่ยนกายวิภาคของงาน (Anatomy of Work) เสริมศักยภาพการทำงานของแรงงานมนุษย์ จากการวิจัยพบว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้สามารถประหยัดเวลาการทำงานของแรงงานมนุษย์ได้ไม่ต่ำกว่า 60-70% Generative AI and AGI จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ความรู้สูง ทักษะสูงและค่าจ้างสูงมากกว่าแรงงานทักษะต่ำและค่าจ้างต่ำ มีการคาดการณ์ตำแหน่งงานในตลาดแรงงานทั้งหมดครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 50% จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติภายในปี ค.ศ. 2045 Generative AI ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการผลิตจะทำให้อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5-3.4% ต่อปี Augmentation แรงงานทักษะต่ำให้ทำงานได้ดีขึ้นและสร้างผลกำไรให้กับกิจการได้มากขึ้น
Artificial General Intelligence (AGI) หรือ General AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาให้ใกล้เคียงมนุษย์) และ Generative AI (ปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์) จะนำไปสู่อุปทานส่วนเกินจำนวนมากของงานสร้างสรรค์ อุปทานแรงงานสร้างสรรค์ นำไปสู่การลดลงของอุปสงค์ต่อแรงงานสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างชัดเจนในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าและอนาคตต่อไป
ขณะที่กิจการการผลิตหรือบริการที่อาศัยแรงงานมนุษย์จะมีลักษณะคุณค่าในตลาดเฉพาะเจาะจง (Gain Niche Value) ผลิตภาพที่สูงขึ้น ลดระดับราคาของสินค้าจำเป็นทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงพลวัตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเคลื่อนตัวสู่การเป็น Hyper Capitalism มากขึ้นพร้อมอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ Artificial General Intelligence (AGI) หรือ General AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาให้ใกล้เคียงมนุษย์)
ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องปฏิรูปและปรับเปลี่ยนระบบประกันสังคม ระบบความมั่นคงและความปลอดภัยของแรงงาน ข้อถกเถียงเรื่องภาษี หุ่นยนต์และ AI เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และญี่ปุ่น บางประเทศมีการเก็บภาษีเพื่อมาใช้สำหรับสวัสดิการแรงงาน บางประเทศไม่เก็บเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งลดแรงงานจูงใจในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลายประเทศเริ่มคิดถึงระบบ Universal Basic Income เพื่อรองรับ แรงงานมนุษย์ส่วนเกิน เพื่อให้สามารถดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ ระบบคุณค่าของสังคมมนุษย์ ความเชื่อศรัทธาต่อศาสนาเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ
มนุษย์ยุคAI ใช้ชีวิตตามใจปราถนามากขึ้น ให้คุณค่าต่องวัตถุเงินทองน้อยลง
มนุษย์ยุค AI ให้คุณค่ากับความร่ำรวยทางด้านวัตถุเงินทองน้อยลง แต่จะให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตตามความปรารถนามากขึ้นหลายประเทศเริ่มคิดถึงระบบ Universal Basic Income เพื่อรองรับ แรงงานมนุษย์ส่วนเกิน เพื่อให้สามารถดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำได้
5.การเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยี BCI สามารถใช้ประโยชน์หลากหลายผ่านการสั่งการโดยเพียงใช้สมองสั่งการ
6. เทคโนโลยี Exoskeleton เพื่อเสริมศักยภาพทางกายภาพและลดขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ ที่ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้างและขนส่งสินค้า
7. เทคโนโลยี Hologram และ Metaverse สามารถใช้ประโยชน์ในระบบการศึกษาการเรียนรู้ และ อุตสาหกรรมบันเทิง
8. เทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (Cybernetics Technology)
9. เทคโนโลยีแปลภาษาแบบเรียลไทม์สมบูรณ์แบบ ทำให้เราสามารถสื่อสารโดยไม่มีข้อจำกัดทางภาษา ตลาดแรงงานสำคัญผู้จบการศึกษาทางด้านภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงหลักสูตรทางด้านภาษากันใหม่
10. เทคโนโลยี Tamdem Cell (Super-Efficient Solar Cell) โซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างชดัเจนเพื่อให้ราคาพลังงานสะอาดถูกลง ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ อย่าง Joseph Schumpeter พูดถึงนวัตกรรมการจัดการ ในปี 1930s โดยเริ่มศึกษาถึงกระบวนที่ระบบทุนได้รับผลกระทบจากนวัตกรรม. หนังสือ Schumpeter “Capitalism, Socialism and Democracy” อธิบายกระบวนการดังกล่าว โดยกล่าวว่าผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูก ขาด (Monopoly profit) ได้เปรียบในการแข่งขัน
แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ Schumpeter เรียกว่าเป็น การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction)
เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ คำว่า การทำลายที่สร้างสรรค์นี้เป็นคำประดิษฐ์ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันนาม Werner Sombart ท่านผู้นี้ยังใช้คำว่า Late Capitalism หรือ ทุนนิยมยุคปลายในหนังสือของท่านเอง คำว่า การทำลายที่สร้างสรรค์ (Creative Destruction) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์โดย Joseph Schumpeter และมักใช้อธิบายผลของนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกรณีของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล
ผลสำรวจIMFพบประเทศพัฒนาแล้วจะมีผลกระทบทางลบจากเอไอเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ล่าสุด IMF ได้สำรวจดัชนี AI Prepared Index โดยทำการศึกษาใน 174 ประเทศ โดยดัชนีจะครอบคลุมตัวชี้วัด เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) การบูรณาการทางด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจ (Innovation and Economic Integration) ทุนมนุษย์และนโยบายตลาดแรงงาน (Human Capital and Labour Market Policies) และ กฎระเบียบและจริยธรรม (Regulation and Ethics) จากงานวิจัยและสำรวจของ IMF เกี่ยวกับ AI Prepared Index ไม่ใช่การจัดลำดับความสามารถ เป็นเพียงงานวิจัยและสำรวจเพื่อนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น
แต่มีข้อค้นพบหลายประการที่น่าสนใจ คือ ประเทศพัฒนาแล้วจะได้ผลประโยชน์และผลกระทบทางลบจากเทคโนโลยีเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้ปานกลาง สามารถรองรับการใช้ AI ในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่า โดยมี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ เดนมาร์ก มีความค่าของดัชนีความพร้อมต่อ AI สูงสุดอันดับต้นๆของโลก
ส่วนประเทศไทยอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนาเล็กน้อย แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีเอไอได้ แรงงานที่มีการศึกษาสูงสามารถปรับตัวได้ดีกว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อแรงงานรายได้สูงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอในเสริมการทำงานให้มีผลิตภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลตอบแทนของทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เอไอนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งที่เพิ่มสูงขึ้นอีก
หากผลิตภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จะนำมาสู่ระดับรายได้โดยรวมของแรงงาน คำแนะนำของ IMF จากรายงาน AI Prepared Index ล่าสุด ต่อประเทศพัฒนาแล้ว คือ ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสภาวะใหม่ด้วยการ Upgrading Regulatory การปรับและจัดสรรกำลังแรงงานใหม่ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆใหม่ หรือ ส่งเสริมให้เกิด Labor Reallocation และมีระบบสวัสดิการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการพัฒนทักษะทางด้านดิจิทัล ทุกประเทศต้องเน้นให้เกิด a safe and responsible AI environment
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถาบัน Brookings Institution เคยคาดการณ์ว่า ระบบอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนตำแหน่งงานรวม 25% แต่เทคโนโลยี AI เองก็ก่อให้เกิดอาชีพใหม่มากมายที่ต้องมีทักษะและความรู้ใหม่ และ ในอนาคตจะเห็นอาชีพใหม่อย่างน้อย 10 อาชีพ ดังต่อไปนี้ 1. AI Engineers and Developers 2. Data Analysts for AI System 3. AI Content Moderators 4. AI Customer Service Rep. 5. AI Trainers and Coach 6. AI-Focused Business Consultant 7. AI-Enabled Translators and Interpreters 8. AI-Assisted Medical Professional 9. AI Call Center Agents 10. AI-Enabled Marketers and Advertisers อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น จะไม่สามารถทดแทน งานแบบเดิม ได้ทั้งหมด จะทำให้จำนวน “คนทำงานไม่เต็มเวลา หรือ “คนว่างงาน” จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ยกเว้น มีการออกแบบระบบเศรษฐกิจเสียใหม่
คาดปี2030-2035AIจะเหนือกว่ามนุษย์ในทุกด้าน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธกล่าวต่อว่า AI จะมีศักยภาพที่เหนือกว่ามนุษย์ทุกด้านภายในปี 2030-2035 การพัฒนาระบบประมวลผลผ่านชิป คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นในอัตราเร่งและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษทำให้ ชิปคอมพิวเตอร์ฉลาดเท่ามนุษย์ที่มี IQ 10,000 สมองมนุษย์ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับ AI แม้นสมอง มนุษย์จะมีพัฒนาการเหนือกว่าสัตว์ทุกประเภทแต่ไม่ สามารถสู้ Generative AI ได้ Generative AI ทำงานผ่านระบบประมวลผลข้อมูล ขนาดใหญ่แต่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกและมิติทางศีลธรรม เราจึงควรพัฒนาให้ AI มีมิติทางด้านคุณค่าทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น ความรู้เรื่อง Quantum Entanglement จะนำไปสู่เทคนิคการสื่อสารล้ำสมัยในการใช้อนุภาค
ควอนตัมในการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารยุคใหม่นำมาสู่ผลต่อการอภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลง ธุ ร กิ จ อุ ต ส า ห ก ร ร ม ก า ร สื่ อ ส า ร โ ท ร ค ม น า ค ม สื่อสารมวลชนแบบพลิกโฉมต่อไป การบุกเบิกพัฒนาเทคนิควิธีการสื่อสารแห่งอนาคต โดยใช้คู่อนุภาคควอนตัมเป็นเครื่องมือในการรับส่งข้อมูลข่าวสารเข้ารหัส ซึ่งมีความรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าการสื่อสารแบบดิจิทัลในปัจจุบัน การประเมินผลแบบ QC จะพลิกโฉม อุตสาหกรรมยา สื่อสาร การเงินการลงทุน เคมี อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบบการเมือง สังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภค สร้างทั้ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ให้กับองค์กรธุรกิจ องค์กรรัฐและพรรคการเมือง จะมีบูรณาการ QC เข้ากับ Cloud Technology ในอนาคตทำให้คนทั่ว ไปเข้าถึงการใช้ Quantum Computing ได้ผ่านเครื่องมือต่างๆ การแพร่หลายของการใช้ QC จะนำมาสู่ Creative Destruction ทำลายล้างกิจการและธุรกิจแบบเดิม สร้างกิจการและธุรกิจใหม่ขึ้นมาแทนที่ Quantum Computer นั้นมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับให้เหมาะสมที่สุด (Optimization) ผู้บริโภคและผู้ใช้ทางธุรกิจโดยทั่วไปที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันกับระบบดังกล่าว ผ่านทาง Remote Access Model ที่ IBM ใช้อยู่ใน ปัจจุบัน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า Quantum Technology: นัยยสำคัญต่อเศรษฐกิจ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ได้และสามารถคำนวณจุดที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด Optimization ด้วยความถูกต้อง ใช้เวลาและทรัพยากรน้อยลงในตรวจวินิจฉัยโรคเชิงลึก การผลิตยาคำนวณสูตรยา ใช้ประโยชน์ในธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงาน ประเมินความคุ้มค่าของแหล่งขุดเจาะ น้ำมันและการตรวจหาแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในภาคการเงินการลงทุน โลจีสติกส์ ค้าปลีก การพยากรณ์อากาศ พยากรณ์เที่ยวบิน ควอนตัมเซ็นเซอร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการทหาร เช่น โดรนทางการทหาร การสกัดกันขีปนาวุธแม่นยำสูง
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างแรงและเร็วในอนาคตอันใกล้ การทำ Solution Provider จะมี ประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก การออกแบบอัลกอริทึม รวมเข้ากับระบบ AI และ Machine Learning เพื่อแก้ปัญหามากมายสามารถทำได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น สิ่งที่เราต้องศึกษาต่อไป คือ Quantum Technology และ Metaverse Technology จะหลอมรวมกันอย่างไร และมีนัยยะอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ วิถีชีวิตและสังคม รวมทั้งระบบการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
คาดอุตฯสื่อ-โฆษณา-การเงิน-ชิ้นส่วน-ค้าปลีกขนาดเล็กถูกเลิกจ้างงานมากสุด
รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังได้วิเคราะห์ถึง โอกาส ความเสี่ยงและความวิตกกังวลจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลว่า
ประการแรก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะพลิกผันและทำลายล้าง ปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ในบางกิจการอย่างรุนแรง ผู้ที่ปรับตัวช้าหรือไม่เตรียมการรับมือทั้งโอกาสและความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงและนำมาสู่การปรับลดการจ้างงานในช่วงสามปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและโฆษณา ธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคาร การเงินและการธนาคาร ธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กิจการค้าปลีกขนาดเล็กและขนาดกลาง กิจการทางด้านการศึกษา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม องค์กรที่สามารถปรับตัวได้ และ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Generative AI จะเกิดโอกาสอย่างมากในทางธุรกิจ สร้างงานใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายและเปลี่ยนแปลงสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากไม่มีการกฎระเบียบหรือระบบภาษีที่เท่าทันต่อพลวัตเหล่านี้ การออกแบบระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความจำเป็นในยุคเทคโนโลยี Ai ครองโลก
ประการที่สอง ความเสี่ยงและความวิตกกังวัลของแรงงานมนุษย์ การเพิ่มความคุ้มครองแรงงานมนุษย์จากการคุกคามของเทคโนโลยีมีความจำเป็นแต่การคุ้มครองต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองอัจฉริยะเอไอจะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ อาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่างๆที่มูลค่าต่ำ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Generative AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มากเนื่องจาก ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะมีคนบางกลุ่มไม่มีทักษะมากพอในการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ สำหรับประเทศที่มีโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมชราภาพอย่างรุนแรง และ มีแนวโน้มต้องนำเข้าแรงงานมนุษย์จำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการใช้ระบบ AI และ ห
ประการที่สาม ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆอย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล(Personalization)จำนวนมากๆได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง
ชีวิตดิจิทัลทำปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพลดลงจนต้องพึ่งเอไอตัดสินใจมากขึ้น
ประการที่สี่ วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง แอฟพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย และ เกมเสมือนจริงต่างๆ กระตุ้นความสนใจและช่วยให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจนผู้ใช้อยู่กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบพบปะสังสรรค์แบบดั้งเดิมลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์และอยู่หน้าจอนานเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและขาดการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิต ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้กิจกรรมประจำวันสะดวกยิ่งขึ้นและออกแรงน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของใช้ให้ส่งถึงบ้านไปจนถึงเดินทางโดยอาศัย Google Map ขณะเดียวกันเป็นผลให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า AI and Automation Bias ขึ้นได้ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆทั้งการบริหารกิจการและในชีวิตประจำวัน
ประการที่ห้า สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้ เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และ Generative AI ที่สามารถเลียนเสียง หน้าตาและพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างสมจริงจะทำให้เราแยกข้อเท็จจริงกับเรื่องลวงได้ยากขึ้น การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้และดูสมจริงอย่างยิ่งซึ่งเรียกกันว่า Deep Fake ความสามารถของเทคโนโลยี AI ช่วยให้ปลอมเสียงและวิดิโอเหมือนเป็นของจริง เราต้องหาวิธีในการปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Deep Fake เหล่านี้ การส่งต่อ ข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นได้ง่าย
โดยทางยูเนสโก (UNESCO) ได้จำแนกออกมาว่า ประกอบไปด้วย ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น ข้อมูลผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดผลาดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนซึ่งอาจเกิดจากความผิดผลาดในการแสวงหาข้อมูลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารลวง สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลจริงบางอย่าง เจตนาของข้อมูลแบบ Disinformation ก็ดี ข้อมูลแบบ Malinformation ก็ดี ล้วนจงใจสร้างขึ้นเพื่อโจมตีใส่ร้ายทำลายเป้าหมายให้เกิดความเสียหาย
เอไอทำเกิดธุรกิจใหม่ๆเพิ่ม :
ประการที่หก การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆโดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ
แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง ใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีใหม่ๆทั้งหลายภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัลสามารถทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการแบ่งขั้วในสังคมเพิ่มขึ้นก็ได้ ลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไปในทางไหนและด้วยการกำกับดูแลทั้งทางนโยบายอย่างไร หรือ กลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปอย่างไร ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีผลทำให้เกิดการแบ่งขั้วด้านอาชีพมากขึ้น อัตราการเติบโตของค่าตอบแทนระหว่างผู้บริหารระดับสูง กับ อัตราการเติบโตของค่าตอบแทนของคนงานทั่วไปถ่างกว้างมากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับแรงงานที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ แรงงานที่ไม่มีทักษะในเรื่องดังกล่าว ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้บรรษัทข้ามชาติเครื่องย้ายฐานงานทักษะต่ำเกือบทั้งหมดไปยังดินแดนที่มีแรงงานทักษะต่ำจำนวนมากและมีค่าแรงถูก เศรษฐกิจดิจิทัลมีการนำเทคโนโลยีและระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมาแทนที่แรงงานมนุษย์ที่ทำงานแบบซ้ำๆโดยไม่ต้องใช้ทักษะ การแบ่งขั้วทางด้านอุดมการณ์ความคิดและวิถีชีวิตอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ขึ้นอยู่กับมีการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางใด
ช่องว่างดิจิทัลทำความเหลื่อมล้ำด้ารศก.-ยังคมย่ำแย่ลง :
เมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องช่องว่างดิจิทัล เนื่องจาก “ช่องว่างดิจิทัล” จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง เวลาเราพูดถึง ช่องว่างดิจิทัล เรามักหมายถึง ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถทางการเงิน ฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะและศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันอีกด้วย เราจึงเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างพื้นที่ในเมืองใหญ่กับชนบท ความไม่สามาถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่เท่าเทียมใน การเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจาก เทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
ครัวเรือนไทยมีคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ถึง 25% :
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอยู่ในระดับไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ของประชาชนส่วนใหญ่ หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ไม่ถึงร้อยละ 25 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 38
ขณะที่ ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้านร้อยละ 68 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 55 และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ร้อยละ 44 ในปี พ.ศ. 2563 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด
ความไม่เท่าเทียมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยและผู้คนทั้งโลก เกิดจากปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ
ประการที่หนึ่ง เกิดจากช่องว่างในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี (วัดจากจำนวนและการกระจายตัวของเทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรศัพท์ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น)
ประการที่สอง เกิดจากช่องว่างจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (วัดจากทักษะและปัจจัยเสริมอื่นๆ)
ประการที่สาม เกิดจากช่องว่างที่มีผลกระทบต่อการใช้งาน (วัดจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการวัดผลด้านอื่น)
ประเทศต่างๆตระหนักถึงปัญหาของ “ช่องว่างทางดิจิทัล” เหล่านี้เป็นอย่างดี และเกือบทุกประเทศได้พยายามแก้ไขเพื่อทำให้ช่องว่างเหล่านี้แคบลง หลายประเทศสามารถลดช่องว่างเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นต้นว่า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศอีกจำนวนมากรวมทั้งประเทศไทยเองต่างยังไม่สามารถก้าวข้ามช่องว่างนี้ไปได้ ช่องว่างทางดิจิทัล มีวิวัฒนาการต่อเนื่อง ตามกาลเวลาที่ผ่านไปและตามประเภทของเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ เทคโนโลยีทุกประเภทที่ถูกนำมาใช้ต้องใช้เวลาใน การแพร่กระจาย (Diffusion) เทคโนโลยีบางประเภทสามารถถูกซึมซับและแพร่กระจายได้รวดเร็วขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทต้องใช้เวลาหลายปีหรือหลายสิบปีจึงจะถึงจุดอิ่มตัวและเข้าถึงคนส่วนใหญ่ ช่องว่างทางดิจิทัล มิใช่เป็นช่องว่างเชิงเดี่ยว (Single divide) แต่เป็นช่องว่างหลายมิติ
เช่น เกิดขึ้นระหว่างประเทศ เกิดขึ้นระหว่างเพศ เกิดขึ้นระหว่างวัย ฯลฯ กรณีของไทย หากพิจารณา งบประมาณทั้งปี 2568 และ 2569 ต้องเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และ ไอซีที เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หาก “ไทย” ต้องการเป็น ศูนย์กลางทางด้าน Data Center ต้องเตรียมพร้อมทางด้านทักษะแรงงาน ทำให้ค่าน้ำค่าไฟฟ้าถูกลง เพียงพอต่อการใช้งานในทุกภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าจากการลงทุนโครงการทางด้าน Data Center
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 12 มกราคม 2568