"มวยไทย" Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลเพื่อไทยสมัย "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ไทยให้เติบโต โดยในสาขากีฬาจะผลักดัน "มวยไทย" สู่เวทีโลก และจัดงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 เมื่อวันที่ 28 - 30 มิ.ย. 2567
ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก เป็นก้าวสำคัญในการผลักดัน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีระดับโลก พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 4 ปี จะสามารถสร้างตัวเลขเศรษฐกิจได้ 4 ล้านล้านบาท ผลักดันให้คนเข้าถึงกีฬา-กิจกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทยมากขึ้น
ต่อเนื่องรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ได้จัดมวยไทย เวิลด์ เฟสติวัล 2025/ Muaythai World Festival 2025 “มหัศจรรย์มวยไทยแห่งสยาม สู่ที่สุดของการต่อสู้ระดับโลก” ระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. 2568 เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่สยามพารากอน เผยแพร่ศิลปะการต่อสู้มวยไทยให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น ในมิติเชิงลึก ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะการต่อสู้ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ทั้งในหมู่ชาวไทยและต่างชาติ ตลอดจนเป็นเวทีให้นักมวยไทย เยาวชน และต่างชาติได้แสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิด มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย โดยจะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้บุคคลวงการมวยไทยในวันที่ 6 ก.พ.ซึ่งกับวันมวยไทย
การผลักดันมวยไทยให้เป็นหนึ่งใน “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศ โดยใช้การเชื่อมโยงด้านกีฬา วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนไทย เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่สนใจมวยไทยจากทั่วโลก มาเปิดประสบการณ์เรียนมวยไทยกับนักมวยชื่อดังกับมาสเตอร์คลาส คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการจ้างงานและเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้
ปัจจุบันไทยมี “ค่ายมวยไทย” และ “ยิม” ออกกำลังกายที่สอนเกี่ยวกับมวยไทย 1 หมื่นแห่ง โดยประมาณ 3,500 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ ส่วนค่ายมวยไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานอย่างถูกต้องจากภาครัฐมีประมาณ 538 แห่ง ในต่างประเทศมียิมที่เปิดการฝึกสอนมวยไทยเกือบ 4,000 แห่งทั่วทวีปยุโรป และมียิม,ค่ายมวยไทย ประมาณ 50 ประเทศทั่วโลก มี 72 แห่ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งยิมเหล่านี้มีความต้องการอุปกรณ์การฝึกมวยไทย ครูมวยไทย จำนวนมาก นับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะใช้ “มวยไทย” สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์รายได้ธุรกิจยิมมวยไทยในยุโรปมีมากกว่า 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินไว้ว่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางด้านซอฟต์พาวเวอร์มวยไทยปี 2567 สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศมากกว่า 7,000 ล้านบาท หากมีการสร้างมาตรฐาน “มวยไทย” ทั้งในเรื่องของค่ายมวย ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน และครูมวยไทยทุกคนที่สอนผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนมวยไทยอาชีพ ระดับ C – License จะทำให้นักกีฬาชาวต่างชาติ มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการสอนมวยไทยของค่ายมวยมากขึ้น เพื่อให้ กีฬามวยไทย เป็น Soft Power ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568