"ศก.ไทย" ใกล้ดิ่งเหวรายย่อยตาย-รายใหญ่ป่วย?
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศออกมาเมื่อวันจันทร์(17 ก.พ.2567) ขยายตัว 3.2% ทำให้ทั้งปี 2567 ขยายตัวได้ราว 2.5%
แม้เป็นตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เพราะเราไม่ได้เห็นระดับ 3% มานานมากแล้ว แต่เหล่า “นักเศรษฐศาสตร์” กลับแสดงความเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจไทยใกล้พ้นจุดสูงสุดของวัฏจักรการเติบโตในรอบนี้แล้ว เนื่องจากเป็นตัวเลขการขยายตัวที่ต่ำกว่าคาด ที่สำคัญนับจากนี้ไปยังมี “ความเสี่ยงใหญ่” รอประจันหน้าอยู่อีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการส่งออกจากสงครามการค้า ความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนที่ยังปลดล็อกปัญหาไม่ได้
แถมล่าสุดยังเสี่ยงโดนสินค้าจีนทุ่มตลาดรอบใหม่ ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ “ตลาดบ้านหรู” ที่เคยแบกงบการเงินของหลายๆ บริษัทเอาไว้ ก็มีแนวโน้มว่ากำลังทรุดตัวลงต่อเนื่อง แล้วแบบนี้เศรษฐกิจไทยจะเหลืออะไรที่พอจะช่วยพยุงการเติบโตได้บ้าง ...คำถามนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐที่ต้องไขปม!!
วันนี้เวลาพูดคุยกับเหล่า “นักธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมไหน ทุกคนต่างส่ายหัวกับเศรษฐกิจไทยเหมือนกันหมด แถมยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหนื่อย” ...เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิจัยที่สะท้อนถึงความเปราะบางมากขึ้นของเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ช่วงปี 2567 “โรงงาน” ในประเทศไทยยังเสี่ยงปิดตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 ยอดปิดตัวของโรงงานสูงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ที่น่าตกใจคือ สถานการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องแล้ว และที่ปิดไปส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กมากขึ้น สะท้อนว่า “รายย่อย” กำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ
“กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอข่าวมาตลอดว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อเนื่อง สุดท้ายคงหนีไม่พ้นที่จะลามไปสู่ผู้ประกอบการ “รายใหญ่” ซึ่งวันนี้ต้องบอกว่า เริ่มโดนผลกระทบกันบ้างแล้ว สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ “Stage2” หรือหนี้ที่มียอดค้างชำระมากกว่า 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน พูดง่ายๆ คือ เป็นกลุ่มหนี้ที่เสี่ยงจะกลายเป็น “หนี้เสีย” ของภาคธุรกิจที่มียอดขอสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป เริ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ ...ข้อมูลล่าสุดของแบงก์ชาติพบสัดส่วนหนี้ SM ของกลุ่มนี้อยู่ในระดับสูงกว่า 4.11% แล้ว เป็นระดับที่เราไม่ได้เห็นมานานมาก
นอกจากนี้ถ้าดูยอดขายสินค้าหรูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “รถซูเปอร์คาร์” หรือ “บ้านหรู” พบว่า เริ่มอืดลงชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ที่เริ่มไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย
และถ้าดูข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) พบว่า การโอนบ้านแนวราบช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 ลดลงไปถึง 22% สะท้อนถึงตลาดบ้านหรูที่ยอดขายดิ่งเหวลง ...สัญญาณหลายๆ ตัวชวนให้คิดว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ “รายย่อย” กำลังตาย ส่วน “รายใหญ่” เริ่มใกล้ป่วยหรือไม่? ถ้ายังจำกันได้มีหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินแห่งหนึ่งย้ำอยู่เสมอว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องไม่มีจุดไหนที่น่ากังวล แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้ปัญหาต่างๆ โผล่ขึ้นมาหลายจุดต่างกับที่เคยให้ข้อมูลไว้มากเหลือเกิน น่าคิดว่าหลังจากนี้เราจะรับมือกันไหวหรือไม่!!?
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568