นักวิจัยจีน พบ ไวรัสโคโรนาตัวใหม่ในค้างคาว เจาะเข้าเซลล์มนุษย์ แบบเดียวกับโควิด-19
มื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างคณะนักวิจัยจีนรายงานพบเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่ ในค้างคาวที่สามารถใช้โปรตีนที่ผิวเซลล์ ในการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ในแบบเดียวกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า ไวรัสนี้อาจแพร่กระจายสู่มนุษย์ได้ในวันหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยซึ่งรายงานการค้นพบนี้ในวารสาร Cell ระบุว่าไวรัสค้างคาวนี้ไม่สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ง่ายเท่ากับไวรัส SARS-CoV-2 เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ไวรัสค้างคาว HKU5-CoV-2 นี้ มีความเหมือนกับไวรัส SARS-CoV-2 จากการมีคุณสมบัติที่เรียกว่า furin cleavage site หรือตำแหน่งในการแยกฟูรินซึ่งเป็นเอนไซม์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่ช่วยให้มันเข้าสู่เซลล์ผ่านโปรตีนตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้
ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไวรัสค้างคาว HKU5-CoV-2 สามารถติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ที่มีระดับ ACE2 สูงในหลอดทดลองและในแบบจำลองของลำไส้ และทางเดินหายใจของมนุษย์ ในการทดลองเพิ่มเติม ทีมนักวิจัยยังได้ระบุแอนติบอดีโมโนโคลนอล และยาต้านไวรัสที่สามารถโจมตีไวรัสค้างคาวได้อีกด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า หลังมีการเผยแพร่รายงานการศึกษาพบไวรัสค้างคาวใหม่นี้ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ ปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า
โดยหุ้นของบริษัท ไฟเซอร์ ปรับขึ้น 1.5% ในการซื้อขายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ขณะที่หุ้นของบริษัทโมเดอร์นา ดีดขึ้น 5.3% และบริษัท โนวาแวกซ์ เพิ่มขึ้นราว 1%
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความกังวลที่มีเพิ่มขึ้นจากรายงานของการอาจเกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ของโรคที่เกิดจากไวรัสค้างคาวตัวใหม่นี้ ดอกเตอร์ไมเคิล ออสเทอร์โฮล์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยมินเนโซตา กล่าวว่า มากเกินไป โดยเขาชี้ว่ามีภูมิคุ้มกันในประชากรต่อไวรัสที่คล้าย SARS มากกว่าในปี 2019 ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการระบาดใหญ่ได้
และการศึกษาดังกล่าวได้ระบุว่า ไวรัสนี้มีความสามารถในการจับกับโปรตีน ACE2 ของมนุษย์น้อยกว่า SARS-CoV-2 อย่างมีนัยสำคัญ และมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมในการปรับตัวในมนุษย์ ซึ่งชี้แนะได้ว่า ความเสี่ยงในการเกิดขึ้นในมนุษย์ไม่ควรกล่าวจนเกินความจริงไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568