เทคโนโลยี-บริการเฉพาะบุคคล กลยุทธ์รับผู้บริโภคอาเซียนโตแกร่ง
อาเซียน (ASEAN) เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การเติบโตนี้มาพร้อมกับโอกาสหากรู้จักใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสม
Aditi Bathia ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BCG และ ยุทธชัย เตยะราชกุล กรรมการผู้จัดการ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย นำเสนอบทความพิเศษ ระบุว่า อาเซียน (ASEAN) เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในภูมิภาค (GDP) ของอาเซียนได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 2552 และ 2565 ถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความแข็งแกร่ง เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เติบโตเฉลี่ยที่ 3.8% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แสดงถึงการเติบโตที่ดีกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3.1% และ 3.2% ในช่วงที่ผ่านมา
ภูมิภาคนี้ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสองแนวโน้มสำคัญเป็นตัวกำหนดทิศทางการบริโภคในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสภาวะด้านเศรษฐกิจ และการปรับตัวของผู้บริโภคที่เปิดรับผลิตภัณฑ์และบริการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทั้งสองแนวโน้มนี้ได้ถูกพูดถึงใน “รายงานผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน ประจำปี 2567” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Boston Consulting Group (BCG) และธนาคารยูโอบี
ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน โดยคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ 3.5% ต่อปีจนถึงปี 2573 ด้วยฐานผู้บริโภคที่หลากหลายและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเริ่มให้ความสำคัญกับบริการที่มุ่งเน้นประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหลัก การทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ เชื่อมต่อกับผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของพวกเขา
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน :
ผู้บริโภคในประเทศไทยมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่พวกเขามีความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด (เพียง 35% ของผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ) แต่ผู้บริโภคไทยยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดหมู่ที่เกี่ยวกับประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว กิจกรรมบันเทิง และไลฟ์สไตล์ (เช่น การใช้บริการสปาและนวด) โดยการใช้จ่ายในหมวดนี้เพิ่มขึ้นถึง 40% โดยเฉพาะในกลุ่มเจน Z (56%) และเจน Y (45%)
การใช้จ่ายในหมวดนี้สะท้อนถึงความมั่นคงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดย 82% ของผู้บริโภคไทยเชื่อว่าสถานะทางการเงินของพวกเขาจะดีขึ้นในปีหน้า และอีกหนึ่งเหตุผลคือผู้บริโภคจำนวนมากหันไปหารายได้เสริม โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยมีรายได้เสริมเพื่อรองรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
และแม้ว่าผู้บริโภคไทยจะมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการและมุ่งหวังในชีวิต
การท่องเที่ยวข้ามพรมแดนที่กำลังเติบโตและการปรับตัวของการชำระเงิน :
การท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้นมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการใช้จ่ายข้ามพรมแดน โดยสองในสามของผู้บริโภคอาเซียนได้ทำการใช้จ่ายในภูมิภาคอาเซียนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีสัดส่วนถึง 63% ของประชากร
การเดินทางที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการชำระเงิน โดย 59% ของผู้บริโภคชาวไทย เลือกใช้วิธีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ทั้งแบบแตะจ่ายและผ่านมือถือขณะเดินทางไปต่างประเทศ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากการใช้เงินสดสู่การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกและรวดเร็ว
การเติบโตของธนาคารดิจิทัล :
ผู้บริโภคในอาเซียนและในไทย ถือเป็นผู้นำในด้านการใช้บริการธนาคารดิจิทัล โดยมีออนไลน์เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคไทยชื่นชอบสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การโอนเงินภายในประเทศและการหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสามของคนไทยยังคงชอบใช้ช่องทางแบบผสมผสานในการเดินทางไปสาขาของธนาคาร สำหรับการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้จะซับซ้อนและต้องการความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และคำอธิบายที่มากขึ้น จึงทำให้สถาบันการเงินและธนาคาร ใช้กลยุทธ์ช่องทางผสมผสานเพื่อให้บริการลูกค้า
91% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการผลิตภัณฑ์และบริการแบบเฉพาะบุคคล 78% ชอบข้อเสนอที่ปรับให้เป็นส่วนบุคคลผ่านแอปธนาคารมือถือ และ 64% ชอบรับข้อเสนอทางอีเมล นี่เป็นโอกาสที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจในการปรับผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มต่างๆ โดยปรับเปลี่ยนเป็นบริการเฉพาะบุคคล
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทาย ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนไปทางสูง โดยผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ (78%) มีความรู้เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงในการเกษียณ และ 58% มีเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่จำเป็นในช่วงสามถึงหกเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน แสดงถึงความตระหนักและมีการวางแผนทางการเงินของคนไทย
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับธุรกิจที่จะปรับกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้บริโภคไทย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการเฉพาะบุคคลมาปรับใช้ในกลยุทธ์ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตในตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโตนี้ได้อย่างยั่งยืน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568