"เวียดนาม" ผู้ชนะที่แท้จริง ศึกแย่งการลงทุนย้ายฐานจากจีน
เทียบตัวเลขส่งออก 5 ชาติอาเซียนชี้ "เวียดนาม" แข็งแกร่งสุดอย่างโดดเด่น ปีที่แล้วส่งออกโตเลขสองหลักทุบสถิติใหม่แซงหน้า "มาเลเซีย-ไทย" ไม่เห็นฝุ่น
ในปี 2567 ที่ผ่านมา "เวียดนาม" สร้างความโดดเด่นกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยการเติบโตในภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งด้วยเลขสองหลักและทุบสถิติใหม่ แซงหน้า "มาเลเซีย" และ "ประเทศไทย" ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเดิมในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึง "ชัยชนะ" ที่เวียดนามกำลังได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่จากจีน

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียได้ประมวลข้อมูลสถิติการค้าปี 2567 ของ 5 ประเทศเศรษฐกิจหลักในอาเซียน ประกอบด้วย มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (ไม่รวมสิงคโปร์เพราะมีการค้าผ่านแดนขนาดใหญ่) เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มการค้าในภูมิภาค ซึ่งพบว่า เวียดนามลอยลำมาอย่างโดดเด่นที่สุด
การส่งออกของเวียดนามแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.03 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 13.8% จากปี 2566 และยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มูลค่าการส่งออกของเวียดนามทะลุระดับ 4 แสนล้านดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้นมาถึงเกือบสองเท่าจากในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2.14 แสนล้านดอลลาร์
ตัวเลขนี้เติบโตแซงหน้าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบมาเลเซียที่ขยายตัวได้ 5.6% ไทย 5.4% และอินโดนีเซีย 2.3%
สองปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของฮานอยก็คือ "เศรษฐกิจสหรัฐที่เติบโตแข็งแกร่งในปีที่แล้ว และการที่ซัพพลายเออร์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน"
เนื่องจากความขัดแย้งกับสหรัฐที่ตึงเครียดขึ้น ทำให้เวียดนามรับอานิสงส์การเป็นแหล่งผลิตรองรับซัพพลายเออร์ที่ย้ายฐานเหล่านี้ โดยนอกจากจะสะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกแล้ว ยังเห็นได้จากตัวเลขการนำเข้ามาผลิตที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ท่ามกลางบริษัมข้ามชาติชื่อดังที่ทยอยประกาศลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกของเวียดนามไปยัง "ตลาดสหรัฐ" ในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 23.4% เป็น 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาค ขณะที่การส่งออกของมาเลเซียไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 23.2% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 19.2% และไทยเพิ่มขึ้น 13.7%
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติสหรัฐพบว่าในปีที่แล้ว สหรัฐขาดดุลการค้ากับเวียดนามเพิ่มขึ้นอีกราว 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 1.04 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566
เวียดนามได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่ซัพพลายเออร์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยในปี 2567 ประเทศมีซัพพลายเออร์ของบริษัท "แอปเปิ้ล อิงค์" (Apple) ทั้งหมด 35 ราย เพิ่มขึ้นจาก 27 รายในปี 2566 และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี "ไทย" ตามมาเป็นอันดับสองด้วยซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ลจำนวน 24 ราย
เวียดนามยังเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่สำหรับการประกอบอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล เช่น AirPods, iPad และ Apple Watch จากการรายงานข้อมูลของสื่อท้องถิ่นคาดการณ์ว่าในปี 2568 เวียดนามจะสามารถผลิต iPad และ Apple Watch ได้ถึง 20% ผลิต AirPods ได้ 65% และ MacBooks 5% จากการผลิตทั้งหมด

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ ก็ได้ตัดสินใจลงทุนในเวียดนามเช่นกัน "เมตา" (Meta) ซึ่งเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก เตรียมเริ่มผลิตเฮดเซ็ตสำหรับเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) ที่เวียดนามในปีนี้ แม้ว่าจำนวนเงินลงทุนและสถานที่ตั้งของโรงงานจะยังไม่ได้รับการเปิดเผย แต่มีรายงานว่าเมตาจะสร้างงานราว 1,000 ตำแหน่งจากการผลิต Quest 3S ในเวียดนาม
ฟากกลุ่มทุนจาก "เกาหลีใต้" ยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่นี่เช่นกัน โดยแชโบลเบอร์ 1 อย่าง "ซัมซุง" (Samsung) ซึ่งมีโรงงานขนาดใหญ่สองแห่งอยู่แล้วในเมืองทางตอนเหนือของเวียดนาม และมีการส่งออกในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนถึง 15.8% จากการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม กำลังเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 1.8 พันล้านดอลลาร์ในโรงงานผลิตจอแสดงผล OLED แห่งใหม่ ใกล้กับโรงงานเดิมของบริษัท
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง "ฮโยซอง กรุ๊ป" ยังมีแผนลงทุน 4 พันล้านดอลลาร์ในเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ในทางตรงกันข้ามกับสหรัฐ "จีน" กลับนำเข้าสินค้าจากบางประเทศในอาเซียนลดลง โดยสะท้อนผ่านการส่งออกของเวียดนามและมาเลเซียไปยังจีนที่ลดลงราว 2% ในปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกของฟิลิปปินส์ไปจีนลดลงอย่างมากถึง 13.6% ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวสวนทางโดยเติบโตได้ 3.1% และอินโดนีเซียขยายตัวได้เล็กน้อย 0.4%
ข้อมูลรายไตรมาสจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งมีข้อมูลจนถึงไตรมาสที่สามของปี 2567 ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของการส่งออกของอาเซียนที่พลิกขั้วจากจีนไปยังสหรัฐ
ภาพรวมการส่งออกของ 10 ประเทศอาเซียนไปสหรัฐช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ขยายตัวทะลุ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสเดียว เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกดังกล่าวยังเกือบเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 4.38 หมื่นล้านดอลลาร์
ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการส่งออกไปจีนที่ลดลง 2% อยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน และยังเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม ในขณะที่ช่องว่างระหว่างการส่งออกไปสหรัฐกับไปจีนยังกว้างขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2
มาเรีย โมนิกา วีฮาร์ดจา นักวิจัยแลกเปลี่ยนจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า มาตรการควบคุมการส่งออกชุดที่สามของวอชิงตัน ซึ่งออกโดยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเดือนธ.ค. 2567 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอาเซียนไปยังจีน โดยมาตรการดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามบริษัทต่างชาติขายสินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีของสหรัฐ (FDPR) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์
นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า "จีนเป็นอยู่และจะยังคงเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่สำหรับบริษัทข้ามชาติต่อไป รวมถึงบริษัทอเมริกันที่ไปเปิดโรงงานใหม่ในอาเซียนเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย" เพียงแต่ว่าหากหากมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐและกฎ FDPR ขยายไปยังผลิตภัณฑ์หรือภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทอเมริกันเหล่านี้มากขึ้น
สำหรับในปี 2568 นี้ แม้ว่ารัฐบาลกรุงฮานอยจะเตือนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้าทั่วโลกที่กำลังจะมาถึง แต่เวียดนามก็ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกแบบ "ทะเยอทะยาน" ไว้ถึง 4.51 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่แล้ว
"เราจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ที่เป็นไปได้และเตรียมแนวทางรับมืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ" นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐบาลเมื่อต้นเดือนก.พ. "เราต้องหลีกเลี่ยงการตั้งรับ การไม่ทันตั้งตัว หรือพลาดโอกาสและแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568