"โกตดิวัวร์" ไม่ได้มีแค่โกโก้ พร้อมเปิดกว้าง รับไทยลงทุน
โกตดิวัวร์ ประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตกที่ไม่ได้มีดีแค่โกโก้ เพราะประเทศมีทรัพยากรที่พร้อมรับการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมกว่านั้น และการลงทุนในโกตดิวัวร์เท่ากับประตูสู่การลงทุนในแอฟริกา
หลายคนรู้จัก “โกตดิวัวร์” ว่าเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่ส่งออกโกโก้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก 3.3 พันล้านดอลลาร์ และแซงหน้าเวียดนามขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกมาถึง 1.55 ล้านตัน ในปี 2566 รองจากไทยและอินโดนีเซีย แต่อันที่จริงแล้วโกตดิวัวร์ไม่ได้มีดีแค่โกโก้หรือยางพาราเท่านั้น เพราะประเทศกำลังเปิดกว้างพร้อมรับการลงทุนอีกหลากหลายอุตสาหกรรม
สถานกงสุลสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาการค้าการลงทุน Côte d'Ivoire -Thailand Business Forum 2025 ครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเปิดให้ภาคธุรกิจไทยสามารถขยายการลงทุนในแอฟริกาได้มากขึ้น โดยเลออง กาคู อาดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโกตดิวัวร์ นำทัพนักธุรกิจเยือนไทย ขณะที่ฝ่ายไทยมีนายชุตินทร คงศักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และพัชรพิมล ยังประภากร กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ประจำประเทศไทย นำทีมนักธุรกิจไทยเข้าร่วมฟังข้อเสนอการลงทุน

โซลานจ์ อามิเคีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในโกตดิวัวร์ เผยว่า การลงทุนในโกตดิวัวร์ไม่ใช่แค่การลงทุนในประเทศที่มีประชากร 30 ล้านคนเท่านั้น แต่ถือเป็นการลงทุนในสหภาพเศรษฐกิจและการเงินแอฟริกาตะวันตก (WAEMU) ซึ่งมีประชากร 140 ล้านคนจากทั้งหมด 15 ประเทศ
โกตดิวัวร์ครองสัดส่วน 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ WAEMU ทั้งยังเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ในแอฟริกาตะวันตก รองจากไนจีเรียที่มีประชากรราว 200 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ระดับ 6.5% ในปี 2566
ขณะที่การค้าทวิภาคีในปี 2567 ประเทศไทยมีการค้าเกินดุลกับโกตดิวัวร์ โดยโกตดิวัวร์นำเข้าสินค้าจากไทยหลายประเภท อาทิ ข้าว อุปกรณ์ขนส่งทางถนน (ไม่นับรวมยานยนต์) เหล็กและชิ้นส่วนต่างๆ เครื่องจักรกล ฯลฯ รวมมูลค่าราว 285 ล้านดอลลาร์ และส่งออกสินค้ามายังไทยส่วนใหญ่เป็นเหล็กกล้า ยางพารา ไม้แปรรูป ฯลฯ มูลค่าราว 1.49 ล้านดอลลาร์
ตามแผนพัฒนาแห่งชาติปี 2564-2568 โกตดิวัวร์กำลังผลักดัน 7 อุตสาหกรรมสำคัญที่พร้อมเปิดรับการลงทุนจากทุกประเทศ ได้แก่ 1.การเกษตร 2.การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 3.วัสดุก่อสร้าง 4.ยา 5.เคมีพลาสติก 6.สิ่งทอ 7.การผลิตบรรจุภัณฑ์ และมี 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการขยายโอกาสการลงทุนมากขึ้น อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอามิเคียมองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพตรงตามที่อุตสาหกรรมโกตดิวัวร์ต้องการ
ชวนลงทุนอุตสาหกรรมสำคัญ :
นอกจากเหนือจากการเพาะปลูกและการผลิตโกโก้ อุตสาหกรรมการเกษตรของโกตดิวัวร์ยังต้องการการลงทุนจากไทยหลายสาขา อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น มะม่วง การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การแปรรูปยางพาราและไม้ยางพารา รวมถึงการแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งโกตดิวัวร์มองว่าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าการเกษตรสูง
โกตดิวัวร์ยังพร้อมรับการลงทุนอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นขึ้นเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของแอฟริกาตะวันตก จึงมีความต้องการการลงทุนผลิตยาที่สำคัญและอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ โดยพร้อมรับการลงทุนจากทั้งบริษัทขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ และเชื่อว่าไทยที่กำลังมุ่งมั่นขึ้นเป็นฮับการแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพการลงทุนในด้านนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และประกอบยานยนต์ที่สำคัญ โกตดิวัวร์จึงต้องการการสนับสนุนจากภาคธุรกิจยานยนต์ไทยเพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วน การประกอบยานยนต์ และเป็นฮับยานยนต์สีเขียวในแอฟริกา
ทั้งนี้ ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โกตดิวัวร์ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2556 อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติในหลายด้าน อาทิ การปกป้องสิทธินักลงทุน การเร่งออกใบอนุญาต สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับนักลงทุน การพัฒนาสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงและเข้าถึงง่าย รวมถึงการสร้างเขตปลอดภาษีอากรในหลายอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านยานยนต์
มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยว :
โกตดิวัวร์เป็นประเทศในแอฟริกาที่มีชายแดนด้านหนึ่งอยู่ติดกับทะเล ดังนั้น การพัฒนาฟื้นชายฝั่งจึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้นผ่านการลงทุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
อาดา คูอัสซี เฟรเดอริก ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยว ของสถานเอกอัครราชทูตโกตดิวัวร์ประจำกรุงปักกิ่ง ที่ดูแลภารกิจในไทย เผยว่า การท่องเที่ยวในโกตดิวัวร์กำลังฟื้นตัว ซึ่งในปี 2566 การท่องเที่ยวฟื้นตัวอยู่ระดับ 93% ของช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นกลุ่มที่ไปเยือนแอฟริกามากที่สุด ขณะที่ชาวแอฟริกาก็เที่ยวในภูมิภาคฟื้นตัวที่ระดับ 96% เมื่อเทียบกับปี 2562
ประเทศผู้ผลิตโกโก้เบอร์ 1 ของโลกยังได้ตั้งเป้าขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับที่ 5 ของแอฟริกา และต้องการสร้างงานเพิ่ม 650,000 ตำแหน่ง
ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวยืนยันว่า โกตดิวัวร์มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ มีระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการลงทุน เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเทศกาลชื่อดังที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ มีร้านอาหารหลากหลายพร้อมรองรับผู้คนจากหลาย
ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีสถานบันเทิงที่น่าสนใจ เช่น สวนน้ำ บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
โกตดิวัวร์มองว่าไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก และมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโกตดิวัวร์ได้ ผ่านการลงทุนในโครงการริมชายฝั่ง อาทิ โรงแรมและรีสอร์ท และการพัฒนาพื้นที่ทางธุรกิจในตัวเมือง
‘โกตดิวัวร์’ ประตูสู่แอฟริกา
ตามที่อามิเคียกล่าวว่าการลงทุนในโกตดิวัวร์ ถือเป็นการลงทุนใน WAEMU ซึ่งธรรม เนียมสกุล หัวหน้ากลุ่มงานแอฟริกาและตะวันออกกลาง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันอีกเสียงว่า การลงทุนในโกตดิวัวร์ถือเป็นการเปิดทางสู่โอกาสการลงทุนในทวีปแอฟริกามากยิ่งขึ้น เนื่องจากโกตดิวัวร์เป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค และมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกา
ธรรมเผยว่า ตลาดแอฟริกาน่าเข้าไปลงทุนเพราะเป็นตลาดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน และกำลังซื้อขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคก็เติบโตต่อเนื่อง โดยจีดีพีในหลายประเทศขยายตัวปีละประมาณ 4-6%
ยิ่งไปกว่านั้นชาวแอฟริกาชื่นชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยมาก เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากจีน โดยมองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีราคาถูกและมีคุณภาพ อาทิ ของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสบู่หรือยาสีฟันสมุนไพร
ธรรมกล่าวต่อไปว่า นอกจากอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูปแล้ว ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในแอฟริกา
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูป เช่น ข้าวสารและของใช้ส่วนตัวแล้ว การเข้าไปลงทุนในแอฟริกาเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคโดยตรงจะยิ่งช่วยสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคมากขึ้น
ธุรกิจใดที่สนใจเข้าไปลงทุนในโกตดิวัวร์และประเทศในแอฟริกา สามารถขอรับข้อมูลแนวโน้มตลาด กฎระเบียบ และโอกาสทางธุรกิจได้ที่ www.ditp.go.th
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 มีนาคม 2568