ไทย ปักธงศูนย์กลางในภูมิภาค บีโอไอนำทีมกวาด 5 อุตฯไฮเทคตั้งฐาน
การประกาศให้ประเทศเป็นจุดหมายลงทุนระดับโลกและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่แค่ว่านโยบายคืออะไร ใครให้ได้เท่าไร แต่มันคือ "เรามีอะไร" พร้อมแล้วใช่ไหมกับปัจจัยเกื้อหนุน ทั้งเรื่องบุคลากรที่มีศักยภาพ พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business)
ซึ่งวันนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกับเหล่านักลงทุนทั่วโลกว่า “ประเทศไทยพร้อมแล้ว” มีรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมไว้รองรับ โดยระบบการขนส่งด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคเข้าด้วยกัน ความได้เปรียบจุดนี้จะปลุกกระแสการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2568

เป้าหมาย 5 อุตสาหกรรมใหม่ :
งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายใต้แนวคิด Ignite Thailand : Invest in Endless Opportunities จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 นับเป็นการกลับมาครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่มีนักลงทุนตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและสนใจกับสิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บทบาทของบีโอไอจะขยายขอบเขตการทำงานที่ต้องเตรียมเรื่องระบบนิเวศ มอนิเตอร์ ซัพพอร์ตเรื่องการลงทุน ดูแลนักลงทุนตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ขณะที่เป้าหมายจะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมใหม่ใน 5 สาขา คือ BCG (Bio, Circular, Green Economy) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center : IBC) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยแข็งแกร่งอยู่แล้ว
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอมีให้ ขณะนี้จะแบ่งเป็นประเภทกิจการ 10 กลุ่ม โดยจะบวกการได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มตามมูลค่าเพิ่ม (Merit-based) เช่น การทำวิจัยและพัฒนา (R&D) การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนา Local Supplier บวกเพิ่มหากลงในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่ชายแดน (SEZ) นิคมอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน ในเดือนเมษายน 2568 เตรียมเดินทางไปโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกา โดยมุ่งหารือกับบริษัทชั้นนำในด้านเซมิคอนดักเตอร์ NVIDIA รวมถึง Intel เช่นกัน โดยผลการหารือจะถูกนำเข้าบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ทันที ที่จะเป็นการประชุมนัดที่ 2 หลังตั้งบอร์ดชุดนี้ขึ้นมา ตามแผนทั้งหมด เพื่อทำให้ GDP ปี 2568 โต 3-3.5% และจะเห็นการลงทุนจริง ตามที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตั้งความหวังไว้
เพราะตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชักชวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 60 ปี ทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย แต่ครั้งนี้จะเป็นการไปเพื่อชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ และรัฐบาลยังคงย้ำว่าจะเร่งเจรจาทางการค้าเสรี (FTA) กับ EU ให้สำเร็จ
เร่งผลิตไฟฟ้าสะอาดให้ได้ 2,000 เมก :
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส ล้วนต้องการพลังงานสะอาด หรือไฟฟ้าสะอาด ขณะที่ “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงแผน PDP ฉบับใหม่ ที่กำหนดจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจาก 22.6% ในปี 2567 เป็น 51% ในปี 2580 อยู่ที่ 63,867 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและดิจิทัล และการพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของไทยให้มีความมั่นคง มีราคาที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำ Direct PPA ใน 2 รูปแบบ ที่คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์และราคาในช่วงเดือนตุลาคม รูปแบบแรก คือ กลไกการจัดหาพลังงานสะอาด (Utility Green Tariff : UGT) ซึ่งประกาศราคาไปแล้วในเฟสแรก 4.21 บาท/หน่วย และจะประกาศราคาในเฟส 2 เดือนมิถุนายน 2568
ส่วนรูปแบบที่ 2 เปิดให้เอกชนซื้อไฟฟ้าผ่านบุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA) โดยมีโครงการนำร่องในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ให้กับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่บีโอไอได้ประเมินตัวเลขเบื้องต้นแล้วว่าความต้องการใช้ไฟสะอาดอาจมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ จากอุตสาหกรรมใหม่ที่เพิ่มเข้ามา นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ทางกระทรวงพลังงานต้องทำแผนรับมือ
5 ปีสร้างบุคลากร 3 แสนคน :
โจทย์ใหญ่ไม่แพ้กัน คือ เรื่องของ “คน” ทุกครั้งที่มีการเจรจากับนักลงทุน ต่างต้องการบุคลากรที่มีความรู้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งนายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดแผนและเป้าหมาย 5 ปี (2568-2573) สร้างบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ 80,000 คน ด้าน EV อีก 150,000 คน และด้าน AI อีก 50,000 คน ผ่านการอัพสกิล รีสกิล การจัดหลักสูตรพิเศษ Sandbox และการให้ทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งมีแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง STEM One-Stop Service ที่ร่วมกับบีโอไอในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่ลงทุนพัฒนาบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การใช้กลไกของกองทุนวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนานักวิจัยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ที่จะดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วยทั้งการสร้างหลักสูตร ฝึกอบรม
ดันมูลค่าดิจิทัลให้ได้ 30% ของจีดีพี :
ด้าน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตบนพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายปี 2570 มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีสัดส่วน 30% ของ GDP และก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับ 30 ของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก ซึ่งในปี 2567 ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมทุกอย่างด้านดิจิทัล เพราะเรื่องดิจิทัลแทรกอยู่ในทุกอุตสาหกรรมอยู่แล้ว หน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในหลาย ๆ ด้านไว้รองรับ เช่น นโยบาย Cloud First เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลและบริการคลาวด์ของภูมิภาค การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุน เช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ สิทธิพิเศษด้านภาษี และการสร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)
วันนี้การลงทุนทั่วโลกมีความท้าทายมากขึ้น ทุกประเทศต่างแย่งชิงเม็ดเงินลงทุน ประเทศไทยจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต เปลี่ยนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกให้เป็นโอกาสเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 15 มีนาคม 2568