อีเวนต์ช็อก! ระยะสั้น ลามเศรษฐกิจสงกรานต์เงินสะพัดลดลง
ธุรกิจอีเวนต์หนึ่งในด่านหน้าที่เผชิญกับความอ่อนไหวจากหลากปัจจัยลบ รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวเมียนมา สะเทือนถึงเมืองไทย ทำให้มีงาน "เลื่อน" ออกไป
ประเมินนักท่องเที่ยวบินระยะสั้นหรือ short-haul อาจเบรกมาเยือนหมุดหมายปลายทางเที่ยวไทย
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา และส่งผลกระทบแรงสั่นสะเทือนถึงเมืองไทย ทำให้ธุรกิจอีเวนต์มีการเลื่อนจัดงานออกไป และจะกระเทือนภาคท่องเที่ยว ที่ประเมินว่านักเดินทางในภูมิภาค ที่บินระยะสั้นอาจชะลอมาเมืองไทย
ทว่า อีกด้านสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ภาครัฐต้องใช้ “อีเวนต์” ต่างๆเป็นเครื่องมือในการโปรโมตอย่างหนัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงกรานต์ ไม่ได้เป็นแค่อีเวนต์ เทศกาลสาดน้ำ แต่ยังมีเทศกาลดนตรีอีดีเอ็ม (EDM)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปลี่ยนเกม ยกระดับซัมเมอร์เฟสติวัลลากยาว 7 เดือน ไม่แค่หน้าร้อนของไทย แต่ดึงซัมเมอร์ยุโรปมาจัดอีเวนต์ดึงนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง ตั้งแต่มี.ค.ทั้งโมโตจีพี สงกรานต์ บางแสน ชลบุรีมาราธอน กรุงเทพมาราธอน การแห่เทียนพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ฯ และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งไม่ใช่แค่พลังโปรโมต แต่รัฐอัดงบพิเศษเพิ่มด้วย เช่น สงกรานต์เทงบเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท งบพิเศษโครงการซอฟต์พาวเวอร์อีก 40-50 ล้านบาท ดันเฟสติวัลให้ใหญ่
“ช่วงนี้เป็นภาวะช็อก งานอีเวนต์อาจจะหายไป มีการเลื่อนจัดงาน ผลกระทบจะเกิดระยะสั้นราว 2 สัปดาห์ กระทบเงินสะพัดสงกรานต์ลดลงแน่ๆ เพราะทุกคนอยู่ในช่วงตกใจ หากไม่มีอะไรตื่นเต้นเชื่อว่าสัปดาห์นี้สถานการณ์จะกลับมาปกติ อีกด้านรัฐบาลมีเวลา 2 สัปดาห์ในการสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ว่าไทยกลับมาเหมือนเดิม ใช้อีเวนต์เป็นเครื่องมือและเปลี่ยนการหลังเกิดเหตุการณ์ว่าไทยจะสนุกมากกว่าที่เคย”
สำหรับอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ มีงานอีเวนต์ด้านการตลาดเลื่อนจัดเพียง 1 งาน ส่วนงานแฟนมีทมีจัดงานได้ 1 รอบ และมีบางรอบที่เลื่อนออกไป แต่ภาพรวมไม่กระทบมากนัก ขณะที่งานอีเวนต์ในประเทศเมียนมา ที่จัดร่วมกับสถานทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ยกเลิกการจัดงาน ซึ่งเดิมงานดังกล่าวจะมีคนเข้าร่วมเกือบพันราย
ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างจับตาดูสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินการจัดอีก 2 งาน ได้แก่ Myanmar Foodbev 2025 และงาน Myanmar Retail Sourcing Expo 2025 ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ เบื้องต้นยังไม่ยกเลิก โดยยอมรับว่าตลาดเมียนมาเผชิญความท้าทายอย่างมาก นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดราว 2 ปี สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ 4 ปี รวมถึงแผ่นดินไหวล่าสุดด้วย แต่งานดังกล่าวมีเงินสะพัดหลัก 40-50 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับภาพรวมปี 2568 ประเมินธุรกิจอีเวนต์มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท จะกลับมาเติบโตเหมือนก่อนโควิด เพราะแรงหนุนมีมากทั้งรัฐใช้อีเวนต์สร้างความเชื่อมั่น เคลื่อนเศรษฐกิจ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ฯ บริษัทเองก็มีการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดอีเวนต์แบรนด์ลักชัวรีที่ตบเท้าเข้าไทยมากขึ้นทั้ง Cartier, Bvlgari, MIDO, Astan Martin การจัดคอนเสิร์ต ต่างแดนผนึกพันธมิตรจัด K-Beauty Expo 2025 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และ K-MED Expo Vietnam 2025 ประเทศเวียดนาม
“ปีนี้อีเวนต์กลับเข้าสู่โหมดเติบโตปกติแล้ว” :
ท่ามกลาง “ทุนจีน” รุกคืบชิงขุมทรัพย์ธุรกิจในไทย “อีเวนต์” เป็นอีกหมวดได้รับผลกระทบ เมื่อแบรนด์จีนหลากหมวดเข้ามาบุกตลาด ทำให้ยกทัพมาจัดอีเวนต์เองยกกระบิทั้งอุปกรณ์ แสง สี เสียง “ทีมงาน” ผู้ประกอบการจึงหาทางป้องกัน รวมถึงเรียกร้องให้รัฐเข้มข้นบังคับใช้กฎหมาย เช่น ด้านแรงงาน จ้างงาน เป็นต้น
“เอกชนกำลังช่วยกัน แอ๊คชัน เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างประเทศ เช่น จีนเข้ามาจัดอีเวนต์อย่างอิสระ หากไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการต้องห้ามตั้งแต่ต้นทาง และไล่จับการเข้ามาทำงาน เพราะหากปล่อยไว้จะเหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนต์ต้องการคือเรียนรู้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การก่อสร้างงาน ซึ่งต้องระบุต่างชาติเข้ามาได้สัดส่วนเท่าใด หรือใช้บริษัทในไทย จดทะเบียนในไทยเท่านั้น เพราะไปประเทศอื่น ธุรกิจอีเวนต์ใช้คน ทีมงาน อุปกรณ์ท้องถิ่นทั้งหมด เราทำหน้าที่ยืนดูควบคุมงานเท่านั้น”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 เมษายน 2568